500รายเลี้ยงปลากระชังที่กาฬสินธุ์อ่วม ตายเกลื่อนสูญ20ล้าน
เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังกว่า 500 ราย ในเขื่อนลำปาว เดือดร้อนอย่างหนัก น้ำสารเคมีทำให้ปลาน็อคตาย หลังขาดทุนจากพ่อค้าคนกลางรับซื้อปลาจำนวนจำกัด ต้องเลี้ยงปลาไว้นานกว่าเดิม เสียหายกว่า 20 ล้านบาท
การเพาะเลี้ยงปลากระชังของเกษตรกร ที่ปักหลักเลี้ยงกันบริเวณท้ายเขื่อนลำปาว โดยเฉพาะในเขต อ.ท่าคันโท อ.หนองกุงศรี อ.ห้วยเม็ก อ.ยางตลาด และอ.สหัสขันธ์ ที่มีจำนวนมากกว่า 14,000 กระชัง พบว่า ขณะนี้กำลังประสบปัญหาปลาน็อคตายเป็นจำนวนมาก เกษตรกรหลายรายเกิดความเสียหาย รายละ 5-10 ตัน และยังคงทยอยตายลงทุกวัน ซึ่งเกษตรส่วนใหญ่ระบุว่า สาเหตุที่ปลาน็อคตายนั้น เนื่องจากพ่อค้าคนกลางรับซื้อจำนวนจำกัด ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาเลี้ยงปลานานกว่าเดิม ประกอบกับปัญหาน้ำเสียและมีสารเคมีผสมจากการทำเกษตรปลูกมันสำปะหลัง และอ้อยไหลลงเขื่อนลำปาว จึงทำให้ปลาน็อคตายขาดทุนไปแล้วกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือ
นายชายงาม อิ่มประสงค์ อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 39 หมู่ 2 ต.ภูสิงห์ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังใน อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรที่เลี้ยงปลากระชังกำลังเดือนร้อนอย่างหนัก เนื่องจากปลาตายจำนวนมาก โดยกระชังที่ตนและกลุ่มเพื่อนเกษตรกรเลี้ยงทั้งหมดเป็นปลานิล เฉพาะตนเองครั้งนี้ลงทุน รวมกับสินเชื่อและค่าอาหาร ไปแล้วประมาณ 1,200,000 บาท ซึ่งครอบครัวมีความหวังจับขาย เพื่อที่จะได้เงินมาใช้หนี้สินและเป็นต้นทุนเลี้ยงรุ่นใหม่ แต่พอผ่านมา 7 เดือนถึงช่วงที่จะจับจำหน่าย กลับมีน้ำป่าไหลมาตามลำห้วยสาขาต่างๆลงสู่เขื่อนลำปาว ซึ่งในน้ำมีสารเคมีจากการทำเกษตรที่ปลูกมันสำปะหลัง และอ้อยเจือปนมากับสายน้ำด้วย ประกอบสภาพอากาศวิปริต มีทั้งฝนตกและอากาศร้อนจัด อุณหภูมิน้ำไม่คงที่ ทำให้ปลานิลปรับสภาพกับอากาศไม่ทัน จึงเกิดการน็อคตายเป็นจำนวนมาก
ปลานิลที่กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงไว้ใน อ.สหัสขันธ์กว่า 30 ราย เริ่มน็อคตายมาตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เฉลี่ยรายละ 5-10 ตัน สูญเงินไปเฉลี่ยรายละ 200,000 - 300,000 บาท โดยเฉพาะปลานิลของตนน็อคตายไปแล้วกว่า 6 ตัน สูญกว่า 350,000 บาท ซึ่งภาพรวมความเสียหายของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังเฉพาะเพียงใน อ.สหัสขันธ์ไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งทุกวันนี้ยังปลาก็ยังคงน็อคตายลงทุกวัน จึงเป็นปัญหาที่ทุกคนกำลังเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะจะต้องขาดทุนยับเยินอย่างแน่นอน
นายชายงาม ยังกล่าวอีกว่า หลังเกิดปัญหาปลาน็อคตาย ตนและกลุ่มเพื่อนเกษตรกรรู้สึกท้อแท้และหมดหวังในชีวิต เพราะปลาที่ตายหากยังมีสภาพสด จะขายได้เพียงราคากิโลกรัมละ 16-20 บาทเท่านั้น แต่หากเก็บไม่ทันก็จะเน่าเหม็น ขายไม่ได้ นำไปแปรรูปหรือทำอะไรไม่ได้เลย ต้องนำไปฝังกลบในดินเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้อย่างเดียวและเพื่อป้องกันกลิ่นเหม็นเน่า อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดปัญหาดังกล่าวได้แจ้งไปยังนายทุน ซึ่งเป็นพ่อค้าคนกลาง เพื่อเร่งระบายปลาออกสู่ตลาดก่อนที่จะตายหมดทุกกระชัง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ อ้างเพียงแต่ว่าเศรษฐกิจไม่ดี การตลาดไม่คล่องตัว จึงรับซื้อจำนวนจำกัด ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องฝืนเลี้ยงปลาไว้นานกว่าเดิม ซึ่งเรื่องนี้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่มีวี่แววเข้ามาช่วยเหลือ ทำให้เกษตรกรจึงได้แต่ก้มหน้ารับสภาพรับกรรมไปแบกรับภาระขาดทุนไปตามๆกัน
สำหรับสถานการณ์เขื่อนลำปาวในปัจจุบัน มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 893 ล้านลูกบาสก์เมตร หรือคิดเป็น 45% จากความจุอ่าง 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร ในช่วงฤดูฝนนี้กำลังระบายน้ำเพื่อให้เกษตรกรพื้นที่ 5 อำเภอ คือ อ.เมืองกาฬสินธุ์ ยางตลาด กมลาไสย ร่องคำ ฆ้องชัย ได้ปลูกข้าวนาปีเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง ที่อยู่บริเวณท้ายเขื่อนและเหนือเขื่อน พื้นที่ประมาณ 560 ราย จำนวน 14,000 ไร่ กำลังประสบความเดือดร้อนจากปัญหาปลาน็อคตาย จึงอยากเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือด้วย