ศาลสรุป7วันอันตราย คดีเมาขับสูงสุด19,603ข้อหา
ปีใหม่คดีจราจรเข้าศาลสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว ร่วม 5,651 ข้อหา โฆษกศาลระบุ31ธ.ค.คดีส่งท้ายปีเยอะสุด ยังเป็นเมาขับ แง่ดีบังคับใช้ก.ม.เข้ม แง่ปลอดภัยผู้ขับขี่ละเลยความปลอดภัยผู้ร่วมใช้ถนน แนะต้องตระหนักความปลอดภัยให้มาก
นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้เปิดเผยถึงสถิติดำเนินคดี ตามความผิดพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ช่วง 7 วันอันตราย ในวันหยุดท้ายปี 2561 จนถึงเทศกาลปีใหม่ 2562 ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.61 - 2 ม.ค.62 ว่า ปริมาณคดีความผิด ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ที่เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นทั่วราชอาณาจักร 232 ศาล ช่วง 7 วันที่ผ่านมา ที่รวบรวมข้อมูลโดย "ศูนย์ข้อมูลคดี สำนักแผนงานและงบประมาณ" สำนักงานศาลยุติธรรมนั้น มีข้อหาที่เข้าสู่การพิจารณาทั้งหมด รวม 21,238 ข้อหา ซึ่งศาลพิจารณาพิพากษาเสร็จ 19,888 ข้อหา คิดเป็น 93.64 %
โดยข้อหาที่มีการกระทำผิดสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ 1.ขับรถขณะเมาสุรา 19,603 ข้อหา 2.ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต 933 ข้อหา และ 3.ขับรถขณะเสพยาเสพติด 598 ข้อหา ขณะที่ จังหวัดที่มีปริมาณคดีขึ้นสู่การพิจารณาสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.นครราชสีมา 1,197 ข้อหา 2.ชลบุรี 1,050 ข้อหา , 3.กรุงเทพมหานคร 1,046 ข้อหา , 4.เชียงใหม่ 927 ข้อหา , 5.ร้อยเอ็ด 850 ข้อหา "นายสุริยัณห์" โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า โดยปริมาณคดีข้อหาตามความผิด ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาล เฉพาะประจำวันที่ 31 ธ.ค.61 ถือว่าสูงที่สุดในช่วง 7 วันอันตราย มีถึง 7,390 ข้อหา โดยข้อหาที่มีการกระทำผิดสูงสุด คือ ขับรถขณะเมาสุรา 7,048 ข้อหา ก็น่าสังเกตุว่าในวันดังกล่าวที่มีปริมาณคดีสูงอาจสืบเนื่องจากวันดังกล่าวเป็นการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีด้วย
ขณะที่ช่วงวันก่อนหน้าเป็นช่วงของการเดินทางเพื่อเข้าสู่การเฉลิมฉลองเทศกาล
นายสุริยัณห์ได้เปรียบเทียบตัวเลขคดีความผิด พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ช่วง 7 วันอันตรายที่เข้าสู่ศาล ในปี 2561 กับปีใหม่ 2562 นี้ ด้วยว่า ในปี 2561 มีคดีเข้าสู่ศาลรวมทั้งสิ้น 15,587 ข้อหา ขณะที่ 2562 มีคดีรวม 21,238 ข้อหา ซึ่งปีนี้มีการดำเนินคดีสูงขึ้นถึง 5,651 ข้อหา ก็เป็นที่สังเกตุได้ว่าปริมาณการดำเนินคดีที่สูงขึ้นหากมองในแง่การบังคับใช้กฎหมายนั้นเข้มข้นขึ้นจากแนวนโยบายมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจตราดูแลความปลอดภัยบนท้องถนนจนนำมาสู่การดำเนินคดีที่ศาล ซึ่งการลงโทษนั้นศาลก็จะพิจารณาตามพฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแต่ละสำนวนตามกรอบของกฏหมาย แต่ขณะที่ปริมาณการดำเนินคดีสูงขึ้นโดยเฉพาะยังเป็นความผิดเมาแล้วขับที่เป็นข้อหาถูกดำเนินคดีสูงสุดนั้นยังสะท้อนถึงการละเลย เพิกเฉยของผู้ขับขี่ที่ทำผิดกฎหมายและความปลอดภัยทั้งต่อตนเอง ที่สำคัญความปลอดภัยของผู้อื่นที่ร่วมใช้เส้นทางสัญจรด้วย ดังนั้นจึงควรตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วย ทั้งนี้ส่วนของการดำเนินคดีในชั้นศาล
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวย้ำด้วยว่า สำหรับการพิจารณาพิพากษาของศาลนั้นตัวเลขตามสถิติที่ผลการตัดสินไม่ครบ100% นั้นเนื่องจากแม้ว่าคดีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ หากจำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่จำเป็นต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพโดยศาลสามารถตัดสินได้เลย แต่ในบางกรณีศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าควรให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจถึงประวัติและพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยเสียก่อน เพื่อนำมาประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษ จึงให้เลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาในวันหลัง ในสถิติจึงเป็นคดีที่ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ขณะที่การพิจารณาคดีเกี่ยวกับความผิด พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ช่วงเทศกาลศาลก็ทุ่มเททำงานกันอย่างเต็มที่ ในบางพื้นที่ที่มีคดีค่อนข้างมากบางศาลใช้เวลาจนถึง 19.00 - 20.00 น. ซึ่งล่วงเลยเวลาราชการศาล เพื่อดำเนินคดีจนเสร็จสิ้นกระบวนพิจารณา