โพลล์ เผยปชช. 67.20 มองบัตรลต. 'ต่างเขตเลือกตั้งต่างหมายเลข' ทำสับสน
โพลล์ เผยปชช. 67.20 มองบัตรลต. "ต่างเขตเลือกตั้งต่างหมายเลข" ทำสับสน ส่งผลจำนวนผู้ไปลงคะแนนเลือกตั้งลดลง
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง“บัตรลงคะแนนเลือกตั้ง ปี 2562” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24 – 27 ธันวาคม 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,253 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง ปี 2562 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง โดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงการรับทราบของประชาชนเกี่ยวกับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งปี 2562 ว่าต้องกาบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพื่อเลือก ส.ส. เพียง 1 ใบ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.55 ระบุว่า ทราบ รองลงมา ร้อยละ 46.77 ระบุว่า ไม่ทราบ และร้อยละ 1.68 ระบุว่า ไม่แน่ใจ
สำหรับการรับทราบของประชาชนเกี่ยวกับหมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มาจากพรรคการเมืองเดียวกันจะเป็นแบบ “ต่างเขตเลือกตั้งต่างหมายเลข” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 67.20 ระบุว่า ไม่ทราบ รองลงมา ร้อยละ 30.88 ระบุว่า ทราบ ร้อยละ 1.84 ระบุว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.08 ไม่ระบุ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ปี 2562 แบบ “ต่างเขตเลือกตั้งต่างหมายเลข” ว่าจะมีผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.57 ระบุว่า ผลเสียมากกว่าผลดี รองลงมา ร้อยละ 24.82 ระบุว่า ผลดีกับผลเสีย ไม่แตกต่างกัน ร้อยละ 20.67 ระบุว่า ผลดีมากกว่าผลเสีย ร้อยละ 8.14 ระบุว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.80 ไม่ระบุ
ทั้งนี้โดยผู้ที่ระบุว่า ผลเสียมากกว่าผลดี ให้เหตุผลว่า ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน จำนวนผู้ไปลงคะแนนเลือกตั้งลดลง และทำให้เกิดบัตรเสียเพิ่มมากขึ้น ส่วนผู้ที่ระบุว่า ผลดีกับผลเสียไม่แตกต่างกัน ให้เหตุผลว่า ไม่มีความชัดเจน ไม่เห็นอะไรเปลี่ยนแปลง และขึ้นอยู่กับตัวบุคคลนั้น ๆ ว่าจะออกเสียงไปในทิศทางใด และผู้ที่ระบุว่า ผลดีมากกว่าผลเสีย ให้เหตุผลว่า ทำให้เข้าใจง่าย และมีความเป็นสัดส่วนมากขึ้น
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการกำหนดให้หมายเลขผู้สมัครของพรรคการเมืองแต่ละพรรค เป็นหมายเลขเดียวกันทั่วประเทศ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.66 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 24.90 ระบุว่า เห็นด้วยอย่างยิ่ง ร้อยละ 14.61 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 2.15 ระบุว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 1.68 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.86 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.62 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.03 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.28 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.21 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 50.52 เป็นเพศชาย และร้อยละ 49.48 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 7.98 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 14.52 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.19 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 35.04 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 19.71 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 0.56 ไม่ระบุอายุ
ตัวอย่างร้อยละ 95.21 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.87 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.72 นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 1.20 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 20.83 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 74.30 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.51 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.36 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 31.12 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 30.09 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.26 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 24.66 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.11 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.76 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 10.93 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 15.32 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.91 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.37 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.44 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 17.08 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.79 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 2.16 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่างร้อยละ 13.96 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 29.93 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 26.66 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 12.45 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 3.91 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 6.15 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 6.94 ไม่ระบุรายได้