ทีมวิศวกร ลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารถล่มรามคำแหง51/2
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 8 ม.ค. ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร จาก วสท. ลงพื้นที่ตรวจสอบหาสาเหตุ อาคารที่กำลังรื้อถอนทรุดตัวบริเวณปากซอยรามคำแหง51/2 ถนนรามคำแหงขาออก แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย ขณะที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นำโดยรศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ ที่ปรึกษาวสท. และทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ จากวสท. ได้ลงพื้นที่เกิดเหตุด้วยเช่นกัน
รศ.เอนก กล่าวว่า พื้นที่เกิดเหตุเป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งได้ทำการเวนคืนพื้นที่เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา เพื่อใช้ก่อสร้างสถานีรามคำแหง โดยว่าจ้างผู้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 จนถึงวันเกิดเหตุ เพื่อจะมอบพื้นที่ให้กับบริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) และบริษัทชิโนทัยเอ็นเจียเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มต่อไป จากการตรวจสอบพบว่าเหตุที่เกิดมีการขออนุญาตรื้อถอนถูกต้อง มีวิศวกรดูแลควบคุมงาน แต่ตัวอาคารเก่าคาดว่าน่าจะมีจุดที่ชำรุดที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ทำให้เกิดการผิดพลาดขณะรื้อถอน ซึ่งในส่วนของขั้นตอนการรื้อถอนถือว่ามีความสำคัญพอๆ กับการก่อสร้าง เพราะต้องดูโครงสร้างและต้องวางแผนการดำเนินการให้รอบครอบ
รศ.สิริวัฒน์ กล่าวว่า งานด้านวิศวกรรม ไม่เพียงใส่ใจแต่งานก่อสร้างเท่านั้น การรื้อถอนนับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของประชาชนและสังคมแวดล้อมจำเป็นต้องตรวจสอบการรื้อถอนตั้งแต่ การวิเคราะห์ เพื่อวางแผนรื้อถอน ขั้นตอนและวิธีการรื้อถอน อุปกรณ์เครื่องจักรที่นำมาใช้ต้องเหมาะสมและปลอดภัย มีการป้องกันฝุ่นละอองและเศษซาก พร้อมทั้งมีวิศวกรควบคุมใกล้ชิด ตลอดจนมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์แก้ผู้สัญจรและผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงอย่างมีประสิทธิภาพด้วย
สำหรับวันเกิดเหตุผู้รับจ้างรื้อถอนจากรฟม. ได้นำรถแบ็กโฮมารื้อถอนส่วนที่เหลือจากการรื้อถอนในเดือนธันวาคม 2561 ขณะทำการรื้อถอนจากด้านในตัวระเบียงนั้น แผ่นปูนที่เป็นกำแพงผนังของชั้น 2 รับแรงกระแทกไม่ไหว จึงหลุดลงมากระแทกกับกันสาดด้านล่างเป็นเหตุให้เกิดการถล่มลงมาทับคนเดินถนนได้รับบาดเจ็บ 2 ราย ระหว่างรื้อถอนห้ามคนเดินผ่านฟุตบาทหน้าอาคารเด็ดขาด คนจึงต้องเดินบนถนนแทนทำให้เศษปูนหล่นลงมาระหว่างที่กำลังเดินผ่านได้รับบาดเจ็บ ส่วนอาคารข้างเคียงซึ่งเป็นธนาคารต้องได้รับการตรวจสอบถึงผลกระทบต่อความมั่นคงของอาคาร และจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไรสำหรับการใช้งานได้อย่างปลอดภัย
ด้าน ศ.ดร.อมร กล่าวว่า วันนี้เดินทางมาตรวจสอบอาคารดังกล่าวที่มีการถล่ม ซึ่งเป็นอาคารของ รฟม. สูง 3 ชั้น โดยอาคารดังกล่าว จะต้อง มียุทธกร และ และวิศวกร ที่เป็นผู้ดูแล โดยขั้นตอนการรื้อถอนนั้น จะต้องเป็นการรื้อถอนแบบถอนกลับแบบก่อสร้าง ซึ่งเราจะต้องตรวจสอบว่า ในการรื้อถอนนั้น ผู้รับเหมารื้อถอนส่วนไหนก่อน เพราะหากรื้อถอนผิด จะทำให้เกิดอันตรายได้
ศ.ดร.อมร เปิดเผยต่อว่า โดยหลังจากนี้ เราจะมีการตรวจสอบการออกแบบว่าถูกต้องตามหลักเกณฎ์ที่ถูกต้องหรือไม่ และในส่วนของการควบคุมงาน จะต้องมีการตรวจสอบว่า วิศวกรที่คอยดูแลนั้น ได้รับใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่ หลักจากนี้ จะมีการเรียกวิศวกรคนดังกล่าวมาสอบ ซึ่งหากพบว่ามีความผิด จะมีโทษสูงสุด คือ เพิกถอนใบอนุญาต โดยขั้นตอนดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน
ส่วนทาง นายนพดล ฉายปัญญา ผู้อำนวยการกองควบคุมอาคารสำนักการโยธาธิการ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรณีที่ทางเขตเคยมีคำสั่งระงับการรื้อถอนเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากสถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่สาธารณะมีประชาชนสัญจรไปจำนวนมาก ประกอบกับมีผู้ร้องเรียนว่ามีเศษจากการรื้อถอนตกลงมา เมื่อมาตรวจสอบพบว่าแผงกั้นที่ป้องกันวัสดุตกหล่นไม่เป็นไปตามแผนที่ยื่นกับสำนักงานเขตไว้ก่อนหน้านี้ สำนักงานเขตจึงให้ไปปรับปรุงและแก้ไขให้ถูกต้อง แต่เรื่องดังกล่าวกลับเงียบไปกระทั่งเกิดเหตุขึ้น ซึ่งต่อจากนี้จะตรวจสอบถึงสาเหตุอีกครั้งว่ามาจากสาเหตุใด ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากสาเหตุใด เกี่ยวข้องกับการที่ทางเขตเคยสั่งให้ระงับการรื้อถอนในช่วงเดือนตุลาคมหรือไม่ จะต้องขอเวลาให้การตรวจสอบสาเหตุให้แน่นชัดเสียก่อน
สำหรับอาคารของธนาคารออมสิน ที่อยู่ติดกับอาคารที่เกิดเหตุ เบื้องต้นทางสำนักงานเขตบางกะปิ มีคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไข บริเวณขั้นที่เสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยในระหว่างนี่ให้มีการหยุดใช้ตัวอาคารดังกล่าวจนกว่าจะมีการแก้ไข