ภาคประชาสังคม แถลงการณ์ต่อการเลือกตั้งเรียกร้อง 'รัฐสวัสดิการ'
“เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ” จัดกิจกรรม “เลือกตั้งครั้งนี้...รัฐสวัสดิการต้องมา” และแถลงข้อเสนอของประชาชนที่มีต่อรัฐสวัสดิการ ที่โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์ กรุงเทพฯ
เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 62 นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า รัฐไทยไม่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำ แต่กลับทำให้ปัญหานี้รุนแรงมากขึ้น เช่น การออกนโยบายที่ทำให้คนในท้องถิ่นเข้าไม่ถึงทรัพยากรจากการจัดสรรที่ดินทำกิน ที่ไม่ให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากร การมุ่งพัฒนาความเจริญในเมืองมากกว่าชนบท หรือแม้กระทั่งการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าดำรงชีพคนละ 200 – 300 บาท ซึ่งไม่ช่วยลดความยากจนหรือความเหลื่อมล้ำ ทั้งที่รัฐจำเป็นต้องกระจายความมั่งคั่งกลับคืนให้กับประชาชนทุกคน ไม่ใช่ทำให้กระจุกตัว
ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนฯ กล่าวต่อไปว่า ในการเลือกตั้งที่ใกล้จะถึงนี้ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการขอเรียกร้องให้รัฐไทย พรรคการเมืองลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหาความยากจนในสังคม ด้วยการยกเลิกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เปลี่ยนมาจัดสรรงบประมาณบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าสำหรับผู้สูงวัยทุกคน โดยไม่ต่ำกว่าอัตราเส้นความยากจนที่ ๓,๐๐๐ บาทต่อเดือน เพื่อให้เป็นหลักประกันทางรายได้เมื่อสูงวัย ด้วยการผลักให้เกิดกฎหมายระบบบำนาญแห่งชาติ
“เราเชื่อว่าการเริ่มต้นผลักดันให้เกิดหลักประกันเหล่านี้ในภาวะสังคมสูงวัยจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้เกิดขึ้นได้ รวมทั้งรัฐต้องปฏิรูประบบโครงสร้างภาษี จัดสรรทรัพยากร และงบประมาณอย่างเป็นธรรม ให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างเสมอหน้ากัน มีสวัสดิการถ้วนหน้าตั้งแต่เกิดจนสูงวัย” นางสาวสุรีรัตน์ กล่าว
ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ หนึ่งในเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ให้ความเห็นว่า รัฐต้องเปลี่ยนนโยบายจากการสงเคราะห์คนด้วยการจ่ายเงินเป็นเบี้ยหัวแตกแบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ให้เป็นสวัสดิการที่ครอบคลุมทุกคน เช่น การยกระดับรายได้ของประชาชน ให้มีหลักประกันทางรายได้ให้กับคนทำงานทุกคน เพื่อเขาจะได้มีกำลังออมเพื่อบำนาญของตัวเองเพิ่มจากบำนาญพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว
“พวกเรารวมตัวเป็นเครือข่าย Welfare Watch Network เพื่อจับตา ติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นใคร ที่มาจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยเราจะไม่นิ่งเฉย ที่จะลดความเหลื่อมล้ำ กระจายความมั่งคั่ง และมุ่งผลักดันการสร้างหลักประกันรายได้ให้ทุกคน” ตัวแทนจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าว
จากนั้นได้มีการออกแถลงการณ์ใช้ชื่อว่า “แถลงการณ์จากใจประชาชนคนธรรมดา” มีใจความว่า เราคือประชาชนธรรมดาที่ยากจนหรือเกือบจน เป็นแรงงานรับจ้าง เป็นเกษตรกร ทั้งคนเฒ่าชรา คนหนุ่มคนสาว และลูกหลานของเรา ที่ยิ่งขาดโอกาสเข้าถึงหลักประกันใดๆ ในชีวิต เนื่องจากความยากจนที่พ่อแม่ประสบมาอย่างต่อเนื่อง รุ่นต่อรุ่น ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความเหลื่อมล้ำสูงสุด ประเทศที่ไม่อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยมากว่า 10 ปี ภายใต้ความเหลื่อมล้ำนั้นย่อมมีความยากจน และมีความมั่งคั่ง ความยากจนกระจายตัวไปทั่วถ้วนหน้า ขณะที่ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่เพียงกลุ่มคนจำนวนเล็กน้อย ทั้งที่ประเทศใช่ว่าจะยากไร้ซึ่งทรัพยากร อันนำความมั่งคั่งให้เกิดขึ้นได้ เพียงแต่ว่าเป็นความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรเหล่านั้น
รัฐที่เราได้ร่วมก่อตั้งและเลือกสรรผู้บริหารให้เข้ามาทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม กลับเป็นอุปสรรคที่ไม่มุ่งมั่นจะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นหลักประกันในการดำรงชีวิตของทุกผู้คน เมื่อกล่าวถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตรอด ประชาชนต้องได้รับการดูแลโดยเสมอหน้ากัน มีสวัสดิการถ้วนหน้าตั้งแต่เกิดจนยามชราภาพก่อนสิ้นอายุขัย ข้ออ้างที่ผู้นำและนักการเมืองพร่ำพูดเสมอว่ารัฐมีเงินไม่มากพอที่จะจัดสวัสดิการ เป็นคำพูดที่ง่าย ปัดภาระออกจากตัวโดยไม่คำนึงถึงภาระหน้าที่ที่ตนเองอาสาเข้ามาเป็นรัฐบาล
เราประชาชนธรรมดา ที่วันนี้อยู่ในสังคมสูงวัย ที่คนชราส่วนมากยังอยู่ในภาวะยากจน ไม่มีหลักประกันรายได้เป็นบำนาญดำรงชีพที่เพียงพอ มีระบบบำนาญที่เหลื่อมล้ำกันระหว่างข้าราชการ ลูกจ้าง และคนทั่วไป มีการบริหารจัดการระบบบำนาญที่แตกต่างแยกย่อยออกไป รัฐจัดสรรงบประมาณเต็มที่ในการจัดบำนาญให้ข้าราชการ จำนวนบำนาญข้าราชการนับว่าสูงที่สุด รัฐส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคเอกชน นายจ้าง ลูกจ้าง ให้มีระบบประกันสังคมที่มีระบบบำนาญในจำนวนไม่สูงมากนัก และรัฐผลักภาระบำนาญของประชาชนทั่วไป ให้เป็นการออมด้วยตนเอง โดยรัฐเพียงสนับสนุนเล็กน้อย และเมื่อรับเป็นบำนาญจะเป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ นี่นับเป็นความเหลื่อมล้ำในระบบบำนาญของรัฐไทย เมื่อประชาชนส่งเสียงดังขึ้นถึงความไม่ยุติธรรมนี้ รัฐก็เพียงแต่เลือกหนทางที่ง่ายที่สุดในการจัดการปัญหา ด้วยการลงทะเบียนคนจน เพื่อจะได้อ้างว่างบที่มีจำกัด ควรจัดสรรให้เฉพาะคนจนเท่านั้น
เราขอยืนยันว่า การจัดสวัสดิการเพื่อหลักประกันในการดำรงชีวิต เป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับเสมอหน้ากัน เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิมกับระบบหลักประกันสุขภาพ ที่ยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคน
เราขอเรียกร้องให้บูรณาการระบบบำนาญของทุกกลุ่มคนให้ได้มาตรฐานเดียวกัน นั่นคือมีบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า ในอัตราไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือเริ่มต้นบัดนี้ด้วย 3,000 บาทต่อเดือน ยกเลิกระบบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เปลี่ยนมาจัดสรรงบประมาณบำนาญพื้นฐาน ยกระดับรายได้ของประชาชน หรือมีหลักประกันรายได้ให้กับคนทำงานทุกคน เพื่อจะได้มีกำลังสะสมออมเพื่อบำนาญของตนได้ เป็นส่วนเสริมจากบำนาญพื้นฐานที่แต่ละคนมีอยู่แล้ว
เราประชาชนธรรมดา ขอแถลง ณ ที่นี้ว่า เราต้องการให้รัฐนี้สร้างหลักประกันยามชราภาพให้ทุกคน โดยการจัดสรรทรัพยากร งบประมาณอย่างเป็นธรรม กระจายความมั่งคั่ง ปฏิรูประบบภาษี และเชื่อมั่นว่าประชาชนมีศักยภาพ มีศักดิ์ศรีเมื่อได้รับการจัดสวัสดิการถ้วนหน้ากัน และเราจะไม่หยุดนิ่งที่จะติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐ ที่จะลดความเหลื่อมล้ำ กระจายความมั่งคั่ง มุ่งหน้าสร้างหลักประกันรายได้ให้ทุกคนทุกวัยในประเทศนี้
แถลงเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2562 ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของรัฐไทย
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ