สนช.จวกกันเอง ทำร่างกม.ไม่รอบคอบ เหตุร่างกม.เยอะคนทำงานมีน้อย
"สนช." จวกกันเอง ทำร่างกม.ไม่รอบคอบ เหตุร่างกม.เยอะคนทำงานมีน้อย ด้าน "พรเพชร" แจงกระบวนการทำกฎหมายรอบคอบ กลั่นกรอง 3 ชั้น ก่อนลงมติเห็นชอบ
เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (แอตด้า) หลังจากที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จ ภายในกรอบเวลา 30 วัน โดยไม่พบการแก้ไขเนื้อหาจากร่างที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เสนอแม้มาตราเดียว จากเนื้อหาทั้งหมด 37 มาตรา และมีผู้สงวนคำแปรญัตติเพียง 1 คน ทั้งนี้ ในการพิจารณาวาระดังกล่าว มีสมาชิก สนช. ท้วงติงถึงกรณีการเร่งรัดพิจารณา และอาจเกิดความไม่รอบคอบของการพิจารณาร่างกฎหมาย
โดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สนช. อภิปรายว่า ร่างพ.ร.บ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เข้าสู่วาระรับหลักการวันที่ 20 ธันวาคม 2560 และกลับมาพิจารณาวาระสอง และวาระสามวันที่ 18 ธันวาคม 2561 ซึ่งไม่พบการแก้ไขโดยกรรมาธิการฯ ซึ่งตนกังวลว่าเป็นเพราะความไม่รอบคอบของกรรมาธิการฯ อีกทั้งด้วยร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอสู่สนช. มีจำนวนมาก ทำให้สมาชิก สนช. ไม่มีเวลาร่วมพิจารณาได้ ดังนั้นในชั้นอภิปรายวาระสอง แม้ตามข้อบังคับการประชุมกำหนดว่าสนช. ไม่สามารถอภิปรายเนื้อหาร่างกฎหมายได้ หากไม่พบการแก้ไขของกรรมาธิการฯ แต่ตนต้องการให้เกิดความรอบคอบในการพิจารณา
ทั้งนี้ นายพรเพชร ชี้แจงว่าตามข้อบังคับการประชุมของกระบวนการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการฯ มีนักกฎหมายเข้าร่วมพิจารณา จึงทำให้เกิดการตรวจสอบ อีกทั้งในก่อนนำร่างกฎหมายเข้าสู่การประชุมวาระสอง และวาระสาม มีคณะกรรมการตรวจร่างกฎหมาย ซึ่งเป็นคณะทำงานที่กลั่นกรองและพิจารณาเนื้อหาเบื้องต้น ขณะที่ในที่ประชุมตนมีสิทธิจะให้บุคคลอภิปรายในบางประเด็นเป็นพิเศษได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการพิจารณาเนื้อหาวาระสอง พล.ร.อ.ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ สนช. เป็นผู้สงวนคำแปรญัตติเพื่อแก้ไขเนื้อหาในมาตรา6 ว่าด้วยการให้อำนาจสำนักงานการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน การถือหุ้น และการร่วมลงทุนกับนิติบุคคล เนื่องจากกังวลว่าจะเป็นการเปิดช่องให้แสวงหาผลประโยชน์ได้ อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นตามผู้สงวนคำแปรญัตติ และปรับแก้ไขเนื้อหา หลังจากที่พักการประชุมไปนานเกือบ2 ชั่วโมง
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าในตอนท้ายของการพิจารณา กรรมาธิการฯ ขอเพิ่มความในบทเฉพาะกาล ที่ให้อำนาจสำนักงานฯ สามารถดำเนินการร่วมทุน, กู้ยืมเงิน เท่าที่จำเป็นหรือต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินงานของสำนักงานฯ ก่อนร่างกฎหมายฉบับใหม่บังคับใช้ สามารถดำเนินได้และไม่เกิดปัญหา จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบเนื้อหาร่างกฎหมายทั้งฉบับด้วยเสียงเห็นชอบ 146 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง.