คดี ”เอิร์ธ” ใกล้จบ เดือนก.พ.นี้ ดีเอสไอ-อัยการเตรียมบินอินโด รับหลักฐานปลอมใบขนถ่านหิน-เหมืองถ่านหิน เอาผิดคดีฉ้อโกงกรุงไทย พร้อมสรุปสำนวนส่งป.ป.ช.
เมื่อวันที่ 21 ม.ค.62 พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสอบสวนคดีบมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ หรือ เอิร์ธ(EARTH) ซึ่งถูกธนาคารกรุงไทยกล่าวโทษร้องทุกข์ต่อดีเอสไอให้ดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงธนาคาร ว่า คดีดังกล่าวมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นทั้งในประเทศและนอกราชอาณาจักร ดีเอสไอจึงตั้งคณะพนักงานสอบสวนขึ้นทำงานร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุด. ในส่วนของการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานภายในประเทศครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ขาดเพียงพยานหลักฐานสำคัญจากต่างประเทศ โดยที่ผ่านมาดีเอสไอได้ประสานกับอัยการ ในฐานะผู้ประสานงานกลาง ทำหนังสือร้องขอพยานหลักฐานใบขนถ่านหินและการตั้งเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียผ่านช่องทางตามสนธิสัญญาความร่วมมือทางอาญา (Mutual Legal Assistance Treaty) หรือ MLAT เพื่อนำมาเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับเอิร์ธ ล่าสุดดีเอสไอและอัยการสำนักการสอบสวน และอัยการสำนักงานต่างประเทศ มีกำหนดจะเดินทางไปยังประเทศอินโดนีเซียภายในเดือนก.พ.นี้ เพื่อรับพยานหลักฐานอย่างเป็นทางการจากอินโดนีเซีย
“เมื่อได้รับหลักฐานจากประเทศอินโดนีเซีย ดีเอสไอจะสรุปสำนวนการสอบสวนส่งให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งอนุกรรมการไต่สวนความผิดทางอาญา เนื่องจากเป็นคดีความผิดที่มีเจ้าพนักงานของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง”อธิบดีดีเอสไอกล่าว
ด้านพ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า สำหรับคดีเอิร์ธนั้น ธนาคารกรุงไทยเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยระบุว่าได้รับความเสียหายจากการปลอมแปลงใบตราส่งสินค้าทางเรือ(Bill of lading-B/L)นำเข้าถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซียของ รวม 13 ใบขน และนำมาใช้เป็นหลักฐานในการกู้เงินจากธนาคารกรุงไทยวงเงิน 1,800 ล้านบาท และต่อมาเอิร์ธได้ผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินB/E และทยอยผิดนัดเรื่อยมา รวมทั้งมีการนำ B/Lจริงมาวนในใช้ในการกู้เงิน. ส่วนธนาคารพาณิชย์อื่นๆที่เป็นเจ้าหนี้เอิร์ธ ไม่ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ ดีเอสไอจึงตั้งข้อหาดำเนินคดีกับเอิร์ธ 13 กรรม โดยแยกแจ้งข้อกล่าวหาตามใบขนถ่านหินที่ถูกปลอมแปลงขึ้น รวมถึงเจ้าพนักงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติสินเชื่อด้วย
รายงานข่าวเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาดีเอสไอได้พยายามทวงถามความคืบหน้าการสอบสวนกรณีปล่อยกู้ให้เอิร์ธจากธนาคารกรุงไทยหลายครั้ง เนื่องจากการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับธนาคารกรุงไทยกว่าหมื่นล้านบาท แต่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษเพียง 1,800 ล้านบาท แต่จนถึงขณะนี้ธนาคารกรุงไทยยังไม่ส่งมอบผลการสอบสวนมาให้ดีเอสไอนำมาประกอบในสำนวนคดี