เปิดแผน 'ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว' เอสเอ็มอีสู่ 'พญาอินทรี'
ไม่ว่าจะวิกฤติแค่ไหน แต่ธุรกิจอาหาร ยังเป็นธุรกิจโตต่อเนื่อง ฐานที่เป็นปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตของผู้คน กลายเป็นขุมทรัพย์ ที่ไม่เหือดแห้งคำกล่าวของ "พันธ์รบ กำลา" ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว จำกัด
เมื่อเขามองเห็นโอกาสมากมาย จึงกำหนดวิสัยทัศน์ “เจ้าแห่งเส้น รถเข็นสากล เป็นครัวของทุกบ้าน และอาหารของทุกคน” เพื่อขยายอาณาจักร “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ร้อยล้านให้เติบโต จะไปถึงฝั่งฝันองค์กรต้องแกร่งพร้อมรบ เพราะธุรกิจร้านอาหารในเมืองไทยแข่งเดือด! เฉพาะร้านเครือข่าย(เชน)มีมูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาท ร้านอาหารริมทาง(สตรีทฟู้ด)มูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาท จำนวนร้านมากกว่า 1.03 แสนร้าน(ที่มา:ยูโรมอนิเตอร์ 2559)
แผนธุรกิจชายสี่บะหมี่เกี๊ยว ในระยะยาว 4-5 ปีข้างหน้า “พันธ์รบ” บอกว่า บริษัทต้องการมีจำนวนร้านโต “เท่าตัว” ที่ 8,600 สาขา ไปจนถึง 1 หมื่นสาขา จากปัจจุบันมี 4,300 สาขาทั่วประเทศ ส่วนยอดขายมองไว้ถึงหลัก “หมื่นล้านบาท”
“เราอยากเดินตามรอยช้าง..ช้างก็คือ ซีพีออลล์ หรือเซเว่นอีเลฟเว่น มีร้านเป็นหมื่น สินค้าที่เขาขายกับผมเหมือนกันคือสินค้าบริโภค เซเว่นฯมีเป็นหมื่นได้ ทำไมผมจะทำไม่ได้ คิดดีกว่าไม่คิด ฝันดีกว่าไม่ฝัน ผมเป็นผู้บริหาร ถือพวงมาลัยแล้วบอกไม่ไหวๆ พูดไมได้ ทำให้ได้ 100% ยากไหมไม่ยาก เพราะแต่ละเดือนมีคนเข้ามาหาผมจำนวนมากแสดงความต้องการเปิดร้านชายสี่ฯ”
กลยุทธ์ผลักดันไปสู่เป้าหมาย จึงทยอยจัดพอร์ตโฟลิโอสินค้าให้หลากหลาย มีแบรนด์ร้านอาหารทั้งชายสี่บะหมี่เกี๊ยว ชายสี่โจ๊กหมู ชายสี่ชิ้นเนื้อ อาลีบะหมี่ฮาลาลฯ เดินหน้าขยายสาขาให้มากขึ้นทั้งลงทุนเอง และเป็นระบบแฟรนไชส์ให้มีสัดส่วน 10% เพื่อให้บริหารจัดการง่าย เพราะหากเปิดเองทั้งหมดอาจต้องดูแลพนักงานจำนวนมาก เช่น 4,000 สาขา ใช้คนถึง 8,000-9,000 คน
ส่วนทำเลที่สนใจจะเปิดร้านหันกลับไปเจรจากับสถานีบริการน้ำมัน(ปั๊ม)แบรนด์ต่างๆ เช่น ปตท. พีที บางจาก เพิ่มเข้าไปเปิดสาขา โดยใช้ 3 โมเดล ได้แก่ ร้านรถเข็นตามเดิมย้ำภาพลักษณ์และการจดจำแบรนด์ที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว คีออสขนาดเล็ก และร้านเดี่ยวหรือสแตนอโลน
นอกจากนี้ บริษัทได้ขยายแบรนด์ใหม่ “ชายสี่แฟคตอรี่” อัพเกรดบะหมี่ฯริมทางให้พรีเมียมมากขึ้น ราคาขาย 49-200 บาท ร้านมีโต๊ะเก้าอี้นั่ง รองรับลูกค้าระดับกลาง บนที่กำลังซื้อสูง ร้านดังกล่าวลงทุนราว 1 แสนบาท เปิดแล้ว 3-4 สาขา อนาคตจะขยายให้มากขึ้น
“ชายสี่อยู่ในตลาดมา 24 ปี ถ้าไม่อยากให้ธุรกิจหยุดนิ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลง ทำอะไรใหม่ออกมากระตุ้นตลาด เดิมชายสี่หมี่เกี๋ยวเราเป็นรถเข็นขายริมฟุตบาท จับคนมีรายได้ต่ำ ถ้าผู้บริโภคที่ขับรถเบนซ์อยากรับประทาน แต่เซ็กเมนต์ยังไม่ใช่ จึงต้องมีแบรนด์ใหม่ออกมาตอบโจทย์ตลาดโดยเฉพาะ”
บริษัทยังพัฒนาสินค้ากลุ่มเครื่องปรุงรส ซอส ทำตลาดเพิ่ม เสริมพอร์ตโฟลิโอสินค้าผงซุปชายสี่ที่ทำตลาด 3-4 เดือนแล้ว และบะหมี่สำเร็จรูปพร้อมทาน เตรียมวางจำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรด
มีอาหารแล้ว ต้องเพิ่มสินค้า “เครื่องดื่ม” นอกจากความฮิตของ “ชานมไข่มุก” ต้องยอมรับว่าศึกษาตลาดแล้วพบ “กำไรดี” บริหารจัดการง่าย จึงทดลองเปิดร้าน “ตรีชา” ที่ลำปาง หากประสบความสำเร็จมีโอกาสเห็นสาขาเพิ่มถึงหลัก “ร้อยร้าน” โดยแฟรนไชส์ยังเป็นโมเดล “สปีด” ธุรกิจ
จะเบ่งอาณาจักรใหญ่ “เงินทุน” สำคัญ บริษัทจึงต้องการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)แปลงร่างสู่ “มหาชน” ภายในปี 2564 และเร็วๆนี้จะเริ่มดึงที่ปรึกษาทางการเงินมาช่วยวางโครงสร้างธุรกิจ การเงินให้พร้อมยื่นหนังสือชี้ชวน(ไฟลิ่ง) โดยก่อนเข้าตลาดบริษัทจะต้องมีรายได้แตะ 1,400 ล้านบาท จากปัจจุบันมากกว่าร้อยล้าน
ทว่า มากกว่าหาเงิน ต้องการเป็นที่หมายปองของ “คนเก่ง-มืออาชีพ” เข้ามาเสริมทีมเคลื่อนธุรกิจ จากปัจจุบันเริ่มดึงอดีตผู้บริหารจากเครือซีพี และช่องทีวียักษ์ใหญ่มาคิดค้นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ตลอดจนการทำตลาดสร้างแบรนด์ให้ก้าวไกลในต่างแดนด้วย หลังจากที่ผ่านมาต่างชาติมาไทย เห็นร้านรถเข็นเป็นเอกลักษณ์ต้องการนำไปเปิดในต่างประเทศ เช่น สหรัฐ อังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ เป็นต้น
“ไม่ได้เดือดร้อนเงินทุน แต่ต้องการให้ประชากรฐานรากมีความเป็นเจ้าของธุรกิจ และยังป้องกันศึกสายเลือดในอนาคต รวมถึงต้องการองค์ความรู้เพิ่มเติม จากคนเก่งที่เข้ามาช่วยงาน ซึ่งตอนนี้เราเป็นธุรกิจครอบครัว บริหารคนเดียวยังติดขัดหลายด้าน และคนเก่งยังไม่ต้องการเข้ามาร่วมงานเพราะระบบอาจไม่เอื้อนัก”
ที่สำคัญ “พันธ์รบ” บอกว่า หนังสือที่ผมอ่านบอกว่า “เอสเอ็มอี ถ้าอยากเป็นพญาอินทรีต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์” เชื่อได้ไหมอีกเรื่อง แต่ผมก็อยากเป็นพญาอินทรี”