นักรัฐศาสตร์ ชี้โอกาสเลื่อนลต.โดยม.44 เกิดได้-เตือนเป็นชนวนสร้างวิกฤต
"นักรัฐศาสตร์" ชี้โอกาสเลื่อนเลือกตั้ง โดยม.44 เกิดได้-เตือนเป็นชนวนสร้างวิกฤต พร้อมแนะอย่าใช้กลไกรรัฐ เพื่อได้ชัยชนะเลือกตั้ง เหตุปชช. ไม่ยอมรับ-การเลือกตั้งเสียของ
เมื่อวันที่ 21 ม.ค.62 รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี นักวิชาการนักรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการเลือกตั้งในปี 2562 ว่า มีโอกาสที่จะเลื่อนออกไปจากวันที่ 24 มีนาคมได้ ด้วยปัจจัยทางข้อกฎหมาย และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ดำเนินการ ซึ่งกรณีดังกล่าวตนมองว่าอาจจะทำให้เกิดหลุมดำทางการเมืองได้ ทั้งนี้มีสิ่งที่จะเยียวยากรณีดังกล่าวได้ หากจะเลื่อนเลือกตั้ง คือ การจัดการเลือกตั้งภายใต้คำยืนยันของกรอบเวลา เช่น จะจัดการเลือกตั้งหลังจากงานพระราชพิธีบรมราชาภิเศา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่10 ในเดือนพฤษภาคม ไม่เกิน 60 วันเป็นต้น
รศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวด้วยว่าปัจจุบันสังคมคาดหวังต่อการเลือกตั้งที่เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี แต่ระหว่างและภายหลังการเลือกตั้งต้องมีแนวทางที่ทำให้สังคมยอมรับต่อการเลือกตั้ง คือ การจัดเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม เปิดโอกาสให้ประชาชนต่อรองและสนทนากับพรรคการเมืองหรือนักการเมืองได้ นอกจากนั้นต้องไม่ใช่อิทธิพลจากอำนาจรัฐ หรือ นโยบายรัฐบาลเข้าไปสร้างอิทธิพลต่อการตัดสินใจของประชาชน และที่สำคัญ คือ หลังการเลือกตั้งต้องเคารพผลการเลือกตั้ง
ขณะที่ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวไปในทางเดียวกันว่า การเลื่อนเลือกตั้งอาจเกิดขึ้นได้ ด้วยการใช้กลไกของมาตรา 44 และหากวันเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปเกินกรอบเวลา 150 วัน จะทำให้เกิดหลุมดำทางการเมือง และอาจเกิดปัญหาว่าจะใช้กรอบหรือกติกาใดกำหนดวันเลือกตั้งหลังจากนั้น นอกจากนั้นหากการเลือกตั้งเกิดขึ้น อย่างไม่บริสุทธิ์ และยุติธรรม จะทำให้เป็นการเลือกตั้งที่เสียเปล่า และรัฐบาลหลังการเลือกตั้งอยู่ในอำนาจไม่นาน เพราะประชาชนไม่ยอมรับ นอกจากนั้นแล้วกรณีที่ฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐใช้กลไกรัฐเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะเลือกตั้ง จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเลือกตั้งไม่ชอบธรรมและประชาชนไม่ยอมรับเช่นกัน
"ผมมองว่าหากการเลือกตั้งไม่เป็นที่ยอมรับ สังคมจะเสียเวลา ความสับสน วุ่นวาย อาจเกิดขึ้นได้ และจากประวัติศาสตร์การเมืองจะพบว่าเมื่อมีเหตุดังกล่าววงจรของการรัฐประหารตัวเองอาจเกิดขึ้นได้ และที่เหนือไปกว่านั้นคือ การสร้างวิกฤตรอบใหม่ที่ไม่เกิดประโยชน์กับประเทศ" ผศ.ดร.ประจักษ์