แล้งนี้แม้เจ้าพระยาน้ำจะพอใช้ แต่ต้องประหยัดไว้ใช้ในวันหน้าด้วย!
กรมชลประทาน ย้ำน้ำต้นทุนลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพียงพอที่จะสนับสนุนกิจกรรมการใช้น้ำในข่วงฤดูแล้งปี 61/62 ตามแผนที่ได้วางไว้ พร้อมบริหารจัดการน้ำต้นทุนให้เกิดประสิทธิภาพและสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน เพื่อให้เกิดความสมดุล
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน (22 ม.ค.62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 55,608 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 73 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 31,678 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 61 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 16,597 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 67 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 9,901 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 61/62 (ระหว่าง 1 พ.ย.61–30 เม.ย.62) ของกรมชลประทาน น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ มีน้ำต้นทุนปริมาณ 34,151 ล้าน ลบ.ม. ขนาดกลาง 3,274 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งได้สำรวจแหล่งน้ำขนาดเล็กในเขตชลประทาน เช่น แม่น้ำ ลำน้ำ และแก้มลิง มีปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้ได้ 2,145 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นน้ำต้นทุนรวมทั้งประเทศ 39,570 ล้าน ลบ.ม. โดยน้ำจำนวนนี้นำมาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สำรองใช้ในช่วงฤดูแล้ง 23,100 ล้าน ลบ.ม. ช่วงระยะเวลา 1 พ.ย.61 - 31 ก.ค.62 เพื่อใช้ในการอุปโภค-บริโภค การทำเกษตรต่อเนื่อง อาทิ สวนผลไม้
การรักษาระบบนิเวศ และการทำเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ส่วนปริมาณน้ำที่เหลือ 16,470 ล้าน ลบ.ม. จะเก็บสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนหน้า ปัจจุบัน ปริมาณน้ำที่ได้วางแผนการจัดสรรทั้งประเทศ ได้ดำเนินการจัดสรรแล้วร้อยละ 41 หรือคิดเป็น 9,401 ล้าน ลบ.ม. จากแผนจัดสรรน้ำที่ตั้งไว้ 23,100 ล้าน ลบ.ม. ฉะนั้น ยังเหลือน้ำที่สามารถจัดสรรในช่วงฤดูแล้งจนถึงวันที่ 30 เม.ย.62 ในปริมาณ 13,699 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ปริมาณน้ำต้นทุนมีเพียงพอ เพราะมีปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ที่สามารถใช้การได้ประมาณ 31,890 ล้าน ลบ.ม. โดยแผนการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง เช่น การปลูกข้าวนาปรังในเขตชลประทาน วางแผนพื้นที่ทั้งประเทศ 8.03 ล้านไร่ ขณะนี้เกษตรกรปลูกแล้ว 6.80 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 85 จากแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ม.ค. 62)
“น้ำที่จะใช้สนับสนุนทุกภาคส่วนทั้งอุปโภค-บริโภค การทำเกษตร รักษาระบบนิเวศ ในช่วงฤดูแล้งนี้มีเพียงพอตามแผนที่วางไว้แน่นอน แต่ยังคงต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน และเกษตรกร ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ พร้อมรณรงค์การปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากข้าวโพดเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยและมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน ซึ่งจะเป็นการช่วยกันประหยัดน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดและสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนหน้าอีกด้วย” ดร.ทองเปลวฯ กล่าวในที่สุด