นร.-นศ.99ชีวิต ซ้อมรำเล่าเรื่องราว 'หลวงพ่อคูณ'
นักเรียน-นักศึกษา 99 คน ซ้อมรำบูรพาจารย์ "พระเทพวิทยาคม" แสดงในพิธีพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่ "หลวงพ่อคูณ" บอกเล่าเรื่องราวความดีงามของปราชญ์แห่งที่ราบสูง
กำหนดการพิธีพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่และครูใหญ่ "พระเทพวิทยาคม" หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธนั้น มีกิจกรรมน้อมรำลึกถึงมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับวันที่ 29 ม.ค. 62 จะมีเคลื่อนสรีรสังขารพระเทพวิทยาคม ไปยังฌาปนสถานชั่วคราววัดหนองแวง พระอารามหลวง ณ บริเวณด้านหลังพุทธมณฑลอีสาน จังหวัดขอนแก่น และเคลื่อนร่างครูใหญ่ทั้งหมดไปยังฌาปนสถานตามวัดต่าง จากนั้นเวลา 18.00 น. พิธีการฆ่านกหัสดีลิงค์ พิธีฟ้อนรำลึกถึงพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) พิธีขอขมาพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) เวลา 22.15 น. ถวายเพลิงจริง สรีรสังขารพระเทพวิทยาคม(หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ)ณ ฌาปนสถานชั่วคราววัดหนองแวง พระอารามหลวง
นางสาวศราวดี ภูชมศรี อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า หลวงพ่อคูณเป็นผู้ที่มีความเปี่ยมไปด้วยเมตตา ชาวบ้านรัก ศรัทธา จนเรียกท่านว่า ปราชญ์แห่งที่ราบสูง เมื่อครั้งมีชีวิตหลวงพ่อจัดสร้างโรงพยาบาล โรงเรียนและสาธารณประโยชน์อีกมากมาย ซึ่งเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ แม้ท่านจะละขังขารยังได้มอบร่างกาย ให้กับคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อเป็นวิทยาทาน แก่นักศึกษาอันเป็นการทำทานจนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิต ซึ่งถือเป็นแบบอย่างและเป็นคำสอนที่ดีเยี่ยมให้กับลูกศิษย์ในการตั้งมั่นประพฤติตนเป็นคนดีและผู้ที่มีจิตใจเมตตาและการให้ทานเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น
“เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการระลึกถึงคุณความดี ไว้อาลัย และแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีแด่หลวงพ่อคูณ บุคลากรสาขานาฏศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งโรงเรียนในเครือข่ายจึงได้ร่วมกันซ้อมรำ ในชื่อชุดการแสดงว่า สํสการ บูรพาจารย์ พระเทพวิทยาคม ชุดการแสดงที่ใช้ในพิธีพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่ พระเทพวิทยาคม โดยแสดงหลังจากพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์ตามแบบพิธีศพแบบโบราณของชาวอีสาน ที่นำเสนอถึงการฟ้อนรำที่บ่งบอกถึงการไว้อาลัยการส่งสการตามแบบของชาวอีสานเน้นรูปแบบวัฒนธรรมของกลุ่มวัฒนธรรมโคราช เช่น ทำนองเพลงโคราช มโหรีโคราชเพื่อนำเสนอถึงภูมิกำเนิดของหลวงพ่อคูณ กระบวนท่าการแสดงมุ่งเน้นไปที่การนำเสนอถึงการเคารพนบนอบ การไว้อาลัย และการใช้สัญลักษณ์ทางนาฏศิลป์เพื่อนำเสนอถึงเมตตาธรรมของหลวงพ่อคูณเช่นรูปแบบการแปรแถวเป็นใบโพธิ์ทั้ง 3 ทิศบริเวณรอบเมรุ เป็นต้น” นางสาวศราวดี กล่าว
สำหรับชุดการแสดงที่ใช้ในพิธีพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่ พระเทพวิทยาคม หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธวันที่ 29 มกราคม 2562 เป็นการฟ้อนส่งสการ การฟ้อนรำที่น้อมรำลึกถึงคุณความดีผู้ล่วงลับหรือไว้อาลัยเพื่อแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ มีผู้รำจำนวน 99 คน มาจากนักศึกษาสาขาศิลปะการแสดง แขนงวิชานาฏศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักเรียนจากโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย โรงเรียนนครขอนแก่นและโรงเรียนบ้านหว้าเหล่าโพนทอง รวมทั้งคณาจารย์ที่มาร่วมมือกันทั้งการคิดท่ารำ กระบวนการแปรแถว การออกแบบเครื่องแต่งกายเน้นในแบบชาวอีสานดั้งเดิม นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นการฟื้นฟูการนุ่งผ้าโจงกระเบนแบบโบราณที่เรียกว่านุ่งด้วยวิธีหักคอไก่ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการนุ่งผ้าแบบดั้งเดิมของชาวไทยโคราช ชาวไทยเดิ้ง
“ผู้แสดงทั้ง 99 คน ผู้หญิงจะสวมเสื้อ นุ่งโจงกระเบน ผ้าพาดไหล่ที่ใช้ผ้าสีขาว ทั้งหมด เพื่อแสดงถึงการไว้ทุกข์ การเคารพนบนอบในพระพุทธศาสนา โดยการแสดงจะมีหลังจากพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์ตามแบบพิธีศพแบบโบราณของชาวอีสาน ซึ่งการฟ้อนรำที่บ่งบอกถึงการไว้อาลัยการส่งสการตามแบบของชาวอีสาน สำหรับการออกแบบเพลงประกอบการแสดงได้รับแนวคิดมาจากการนำเสนอถึงภูมิหลังของหลวงพ่อคูณคือจังหวัดนครราชสีมา การนำเพลงมโหรีโคราชและเพลงโคราชมาใช้ประกอบการแสดงโดยประพันธ์บทร้องขึ้นมาใหม่ ที่จะนำเสนอถึงความเมตตาธรรมคำสอนและคุณงามความดีอันเป็นแบบอย่างให้แก่ประชาชนโดยใช้เวลา 10 นาที ส่วนการออกแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายได้รับแนวคิดมาจากวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวอีสานดั้งเดิมโดยผู้สวมเสื้อโดยผู้แสดงสวมเสื้อสีขาวนุ่งโจงกระเบนด้วยผ้าสีขาวทั้งนักแสดงผู้หญิงและนักแสดงผู้ชายสีขาวหมายถึงการสีขาวแสดงถึงความไว้ทุกข์และแสดงถึงความเคารพนบน้อบในพระพุทธศาสนา”นางสาวศราวดี กล่าว