'พระเทพฯ' ทรงห่วงสื่อสาร 'ราชาภิเษก' เน้นถูกต้อง

'พระเทพฯ' ทรงห่วงสื่อสาร 'ราชาภิเษก' เน้นถูกต้อง

รองนายกฯเผย "สมเด็จพระเทพฯ" ทรงห่วงการสื่อสารช่วงงาน พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก เน้นถูกต้อง

เมื่อเวลา 11.00 น. ที่หอประชุม 2 ชั้น 1 อาคารหอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 เปิดเผย รายละเอียดการประชุมคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ ครั้งที่สอง ว่า

2_34

“หลังจากได้มีการประชุมเพื่อเตรียมงานเบื้องต้น เมื่อ วันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลมีการจัดคณะกรรมการชุดใหญ่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษาการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงรับสั่งด้วยความห่วงใย

เรื่องแรกคือ การใช้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกาศทุกด้าน หรือผู้บรรยายเกี่ยวกับพระราชพิธี จะต้องถูกต้องแม่นยำ

2_201

เรื่องที่สอง ระบบการถ่ายทอดช่วงพระราชพิธี เป็นเรื่องที่ถือว่ามีความสำคัญ ผู้บรรยายบางครั้งก็บรรยายมากเกินไป หรือพูดจนไม่สามารถรับทราบรรยากาศในงานพระราชพิธี ซึ่งวันนี้ได้นำมาย้ำเตือนกับที่ประชุมให้วางแผนให้ดีโดยเฉพาะเรื่องการถ่ายทอด ซึ่งมีหลายขั้นตอนมาก และต้องมองลึกลงไปว่า ในช่วงถ่ายทอดสด ต้องนำเรื่องที่รับสั่งไว้ใส่เกล้าฯไว้เสมอ และดำเนินการอย่างเข้มงวด

ด้านการบรรยายสดจะต้องระมัดระวัง โดยอยากเน้นว่า ควรมีบทบรรยายมากกว่า เพื่อป้องกันความผิดพลาด และต้องรู้ลำดับขั้นตอนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งบางครั้งประชาชน ก็อยากซึมซับบรรยากาศมากกว่า

เรื่องที่สอง การทำงานร่วมกัน วันนี้ใช้ทีวีพูลเป็นหลัก ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่า โทรทัศน์ทุกฝ่าย อยากมีส่วนร่วมกับพระราชพิธีนี้ จึงให้คณะกรรมการที่ถ่ายทอดเปิดกว้างให้ทีวีหลายๆ ช่องเข้ามามีส่วนร่วมได้ เพื่อทำให้พระราชพิธีนี้สมพระเกียรติ และสื่อให้ประชาชนได้เห็นข้อมูลอย่างครบถ้วน ตั้งแต่เริ่มพิธีตักน้ำในวันที่ 6 เม.ย. 62 สื่อทุกช่อง ทุกจังหวัดจะได้มีส่วนร่วมในการเข้ามาบันทึกภาพประวัติศาสตร์ด้วย

4_103

ส่วนเนื้อหาของการประชุมครั้งนี้ ขอให้คณะอนุกรรมการทั้งสี่ฝ่าย ได้แก่ฝ่ายสารัตถะและสร้างสรรค์ผลิตสื่อ มีหน้าที่ดูแลข้อมูลให้ถูกต้องและผลิตสื่อเผนการเผยแพร่ ฝ่ายถ่ายทอดวิทยุและโทรทัศน์ ศูนย์สื่อมวลชนดูแลสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ และฝ่ายต่างประเทศสำหรับดูแลสื่อมวลชนที่ติดตามมากับประมุขหรือผู้นำประเทศต่างๆ โดยเฉพาะ

อีกทั้งยังกำชับเรื่องการทำงบประมาณของแต่ละหน่วยงานให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 8 ก.พ.62 เพื่อจะได้เร่งดำเนินงานได้ทันการณ์ พระราชพิธีนี้รัฐบาลถือเป็นความสำคัญสูงสุด ดังนั้นในทุกเรื่องต้องละเอียดรอบคอบ

ที่สำคัญอีกเรื่องที่เน้นก็คือ ขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ในระหว่างการเลือกตั้ง ดังนั้นการสื่อสารออกไป อาจทำให้เกิดความสับสน ดังนั้นทุกคนจะต้องให้ความสำคัญและการทำงานให้ละเอียดมากขึ้น โดยพระราชพิธีจะเริ่มเตรียมงานตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้ ทั้งพิธีพลีกรรม หรือการตักน้ำจากแหล่งต่างๆ ทั้ง 76 จังหวัด และการซักซ้อมพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค จึงได้มีการซักซ้อมทั้งในและนอกสถานที่ อยากให้สื่อมวลชนและหน่วยงานประจำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ช่วยเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้ รวมทั้งแต่ละจังหวัด ยังมีหน้าที่ในการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธี เพื่อให้เข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด และอยากเชิญชวนพี่น้องทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของชีวิตกับพระราชพิธีที่มีความสำคัญของชาติ เพื่อให้ทุกอย่างสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดีอย่างสมพระเกียรติ

นางทัศนีย์ ผลชานิโก รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในฐานะอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการของคณะอนุกรรมการศูนย์สื่อมวลชน เปิดเผยว่า

5_74

สำหรับการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่ถูกต้อง มีการทำเว็บไซต์ www.phalan.in.th แฟนเพจ ‘พระราชพิธีบรมราชาภิเษก’ และเปิดเผยแพร่ข้อมูลที่เชื่อถือแล้ว โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ทั้งรูปแบบตำรา เอกสาร เพื่อเผยแพร่ในระบบออนไลน์ ซึ่งประชาชนสามารถสังเกตชื่อคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ ด้านล่างของเนื้อหา มุมซ้ายมีตรากรมประชาสัมพันธ์ในฐานะแอดมินเว็บไซต์และแฟนเพจ ส่วนมุมขวาเป็นที่มาของแหล่งข้อมูล เพื่อป้องกันความเข้าใจคลาดเคลื่อน และข้อมูลผิดพลาด

นอกจากนี้ ยังจัดทำเป็นหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งหนังสือพิธีบรมราชาภิเษก โดยกระทรวงวัฒนธรรม หนังสือรวบรวมบทความพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยกรมศิลปากร หนังสือรวบรวมแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยกระทรวงมหาดไทย

1_128

ส่วนศูนย์สื่อมวลชน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเตรียมการโดยจะเปิดศูนย์ย่อยที่กรมประชาสัมพันธ์ ในวันที่ 1 มี.ค. นี้เป็นต้นไป โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำการ เพื่อคอยตอบคำถามและมีเอกสาร เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงที่มาของข้อมูลในการเผยแพร่ เพื่อง่ายต่อการสืบค้น รวมทั้งยังได้รับความร่วมมือจากกสทช. จัดอบรมให้ความรู้แก่สื่อมวลชนและจิตอาสาที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 4 ครั้ง โดยเริ่มครั้งแรกภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในข้อมูลที่ถูกต้องร่วมกันทุกฝ่าย