สศช.คาดเศรษฐกิจปี 62 ยังขยายตัวได้ระดับ 4%

สศช.คาดเศรษฐกิจปี 62 ยังขยายตัวได้ระดับ 4%

สศช.คาดเศรษฐกิจปี 62 ยังขยายตัวได้ระดับ 4% แม้ปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกมีมาก แนะจับตาเบร็กซิท สงครามการค้า เตรียมชงรัฐบาลใหม่เดินหน้า 15 ประเด็นเร่งด่วน

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยระหว่างการแถลงรายงานผลการพัฒนาประเทศรอบ 5 ปี (2557 – 2561) ว่าภาพรวมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน จากการขยายตัว 1% ในปี 2557 เป็น 4.3% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 และคาดว่าทั้งปี 2561 จะขยายตัว 4.2% ส่วนในปี 2562 คาดจะขยายตัวได้ 4.0% ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) สงครามการค้า และดอกเบี้ยโลก แต่ทั้งนี้ยังคงมีอัตราการขยายตัวสูงกว่า

“การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อันเนื่องมาจากองค์ประกอบหลักทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีการขยายตัวและกระจายตัวมากขึ้นในทุกด้าน ทั้งมูลค่าการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยมีผู้ว่างงานคิดเป็นเพียง 1% ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งเป็นอัตราที่น้อยที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก ตลอดจนสัดส่วนหนี้ภาครัฐทรงตัวจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแม้ว่ารัฐบาลจะมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ สศช.เตรียมที่จะเสนอให้รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาหลังเลือกตั้งสานต่อประเด็นการพัฒนาประเทศในระยะเร่งด่วน 5 ปีแรกจำนวน 15เร่งด่วน ได้แก่ การแก้ไขปัญหาพื้นฐาน ประกอบด้วย 1) ตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เน้นสร้างความสามัคคีปรองดอง และการบริหารพื้นที่อย่างยั่งยืน 2) แก้ปัญหาความมั่นคงเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหาด้านยาเสพติดและความปลอดภัยด้านไซเบอร์ 3) พัฒนาประสิทธิภาพการทำงานภาครัฐในด้านการประเมินผลและการใช้งบประมาณ 4) แก้ปัญหาทุจริตของการดำเนินการทุกภาคส่วน และ 5) บริหารจัดการน้ำและมลพิษจาก
ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม

การดูแลยกระดับเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 1) สภาพแวดล้อมภาครัฐที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจและการบริการภาครัฐ 2) สังคมสูงวัยที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถดูแลตัวเองได้ 3) คนและการศึกษา พัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยให้มีทักษะความรู้ ทักษะอาชีพและทักษะชีวิต 4) เศรษฐกิจฐานราก เน้นการพัฒนาผู้ประกอบการระดับตำบลทั้งในด้านเกษตรกรรมและนวัตกรรม 5) บริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและเข้าถึงง่าย และ 6) กระจายศูนย์กลางความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ผ่านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่เมือง

และการสร้างรายได้และรองรับการเติบโตในระบบอย่างยั่งยืน ประกอบ 1) การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ครบวงจรและได้รับการยอมรับในระดับโลก 2) อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ เน้นอุตสาหกรรมมูลค่าสูง และอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 3) การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจ EEC และ SEC รวมทั้งการเปิดพื้นที่ใหม่ เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาแบบก้าวกระโดดและ 4) การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล สร้างความเชื่อมโยงทั่วประเทศและระหว่างประเทศ