แนะหลัก 10 ประการ ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ
กรมการแพทย์แนะผู้สูงอายุรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ให้เพียงพอและเหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอวันละ 6 - 8 ชั่วโมง เพื่อส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง
นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุการทำงานของระบบประสาทจะด้อยลง ผู้สูงอายุอาจเป็นโรคฟันผุ หรือไม่มีฟันทั้งปาก ต่อมน้ำลายหลั่งสารน้อยลง ทำให้การบดเคี้ยวอาหารภายในปากไม่ดี เมื่ออาหารถึงกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กทำให้เกิดปัญหาในการย่อยและดูดซึม เพราะน้ำย่อยในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กมีน้อยลง อาหารที่ย่อยไม่ได้เมื่อผ่านมาถึงลำไส้ใหญ่จะสะสมเกิดเชื้อแบคทีเรียและปล่อยก๊าซออกมาทำให้เกิดอาการท้องอืด นอกจากนี้ยังพบว่าการเคลื่อนไหวของลำไส้มีน้อยทำให้ท้องผูก อย่างไรก็ตามอาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะผู้สูงอายุยังคงมีความต้องการพลังงานและสารอาหารที่มีคุณภาพสูงเพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ จึงควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ให้เพียงพอและเหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุจึงควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ดังนี้ หมู่ที่ 1 ได้แก่เนื้อสัตว์ต่างๆ ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้ง หมู่ที่ 2 ได้แก่ ข้าว แป้ง น้ำตาล เผือก มัน รับประทานพอเหมาะไม่มากเกินไป หมู่ที่ 3 ได้แก่ ผักต่างๆ รับประทานที่ต้มหรือนึ่งจนสุก หมู่ที่ 4 ได้แก่ ผลไม้ต่างๆ เลือกที่มีเนื้อนุ่มและเคี้ยวง่าย เช่น มะละกอสุก กล้วยสุก ส้ม เป็นต้น หมู่ที่ 5 ได้แก่ ไขมัน/น้ำมันพืช หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันหรือไขมันที่มีไขมันทรานส์ นอกจากนี้เพื่อส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ผู้สูงอายุควรปฏิบัติตัว ดังนี้ 1.พักผ่อนให้เพียงพอวันละ 6 - 8 ชั่วโมง 2.พยายามอยู่ในที่มีอากาศบริสุทธิ์ 3.ฝึกการขับถ่าย อย่าให้ท้องผูก 4.ดูแลสุขภาพ ช่องปาก ฟัน และเหงือกอยู่เสมอ 5.ตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำปีละ 2 ครั้ง 6.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอให้เหมาะสมกับสภาพของร่างกาย 7.งดสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า 8.ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ 9.มองโลกในแง่ดีจะทำให้จิตใจสดใสและอารมณ์ดี 10.หาโอกาสพบปะสังสรรค์กับเพื่อนบ้าน