ลีสซิ่งกสิกรฯกำไรกว่า1,400ล้าน โต30%เดินหน้าแพลตฟอร์มดิจิทัล
ประกาศผลงานปี 2561 ปล่อยสินเชื่อได้ 105,644 ล้านบาท กำไร 1,402 ล้านบาท ตอบรับตลาดรถยนต์ยอดขายสูงสุดในรอบ 5 ปี เดินหน้าปี 62 เตรียมอัดแคมเปญเชิงรุก ชูจุดแข็งเครือข่ายบริการและฐานลูกค้าธนาคารกสิกรไทย ตั้งเป้าสินเชื่อใหม่กว่า 110,000 ล้านบาท
นายศาศวัต วีระปรีย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด ในปี 2561 สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 105,644 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 24.39% แบ่งเป็นสินเชื่อใหม่เช่าซื้อและลีสซิ่งและสินเชื่อจำนำเล่มทะเบียน 43,513 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.72% และสินเชื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ 62,131 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.36% สำหรับยอดสินเชื่อคงค้าง (Outstanding Loan) มียอดรวม 108,081 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 11.36% ทั้งนี้ บริษัทมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 1.32% ส่งผลให้บริษัทมีกำไร 1,402 ล้านบาท เติบโต 29.78% ซึ่งผลการดำเนินงานดังกล่าวสอดคล้องกับตลาดรถยนต์ไทยปี 2561 ที่มียอดขาย 1,041,739 คัน สูงที่สุดในรอบ 5 ปี
ด้านแนวโน้มตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะสามารถทำยอดขายได้ 980,000-1,010,000 คัน หรือหดตัวร้อยละ 2-5% เมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งเป็นการปรับกลับเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น หลังจากที่ในปีที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์มีการขยายตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเภทรถยนต์นั่งที่คาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดในปีนี้ น่าจะเป็นรถยนต์ในกลุ่มอีโคคาร์ ที่ในปีนี้มีโอกาสที่ค่ายรถจะนำเสนอรถยนต์อีโค-ไฮบริด และไมลด์ ไฮบริด ออกมา ซึ่งคาดว่าภาครัฐจะมีมาตรการสนับสนุนทางด้านภาษี ทำให้มีระดับราคาที่สามารถแข่งขันได้ จึงเป็นโอกาสให้ผู้บริโภคเปิดรับเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่นี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ รถยนต์ไฟฟ้าประเภทอื่น ทั้งรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ น่าจะมีทิศทางที่เติบโตดีขึ้นมากเช่นเดียวกัน หลังค่ายรถหลายค่ายตัดสินใจเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ประเภทดังกล่าวในไทย สำหรับตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์คาดว่า ปัจจัยเรื่องการเลือกตั้ง และการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวดีจะเป็นปัจจัยบวกสำคัญในการผลักดันรถปิกอัพในประเทศให้เติบโต
ในส่วนของแนวโน้มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ หลังจากที่ในปีที่ผ่านมา ขยายตัวกว่า 13% หรือกว่า 1.06 ล้านล้านบาท ซึ่งนับเป็นการขยายตัวในอัตรา 2 หลักครั้งแรกในรอบ 6 ปี จากปัจจัยด้านยอดขายรถใหม่ที่เพิ่มขึ้นและยอดชำระคืนสินเชื่อมีทิศทางชะลอลงหลังสินเชื่อในโครงการรถคันแรกทยอยครบสัญญา ในปี 2562 นี้ คาดว่าในภาพรวมของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จะยังเติบโตในอัตราที่ชะลอลงมาที่ 4.5-6.5% ตามการปรับฐานยอดขายรถใหม่เป็นหลัก ตั้งเป้าหมายปี 2562 ปล่อยสินเชื่อได้กว่า 110,000 ล้านบาท