ดัชนี‘พีเอ็มไอ’หดทั่วเอเชีย-ตอกย้ำศก.โลกชะลอ
ขณะที่พีเอ็มไอการผลิตของญี่ปุ่นก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 29 เดือนที่ 50.3 จุดในเดือนม.ค. 2562 จาก 52.6 จุดในเดือนธ.ค. 2561 เนื่องจากยอดคำสั่งส่งออกร่วงลง
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดทำโดย “นิกเกอิ” บ่งชี้ว่า กิจกรรมภาคการผลิตในเศรษฐกิจเอเชียส่วนใหญ่หดตัวลงในเดือนม.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการทั่วโลกชะลอตัว โดยพีเอ็มไอในไต้หวันและญี่ปุ่นแตะระดับต่ำที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา
ผลสำรวจพีเอ็มไอ ประจำเดือนของนิกเกอิ สอบถามบริษัทในบรรดาประเทศและภูมิภาคสำคัญของเอเชีย ยกเว้นจีน เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในผลผลิต คำสั่งซื้อ และสถานะธุรกิจอื่น ๆ เทียบกับในเดือนก่อนหน้า
ทั้งนี้ ดัชนีพีเอ็มไอที่ต่ำกว่า 50 จุดหมายความถึงการหดตัวลง ส่วนตัวเลขที่มากกว่า 50 จุดหมายถึงการขยายตัว
ในเดือนม.ค. ข้อมูลพีเอ็มไอ 11 ชุดจาก 15 ชุดต่างปรับตัวลดลง เพิ่มขึ้นจากที่เคยลดลง 9 ชุดในเดือนธ.ค. 2561 ความต้องการทั่วโลกที่ชะลอตัวลงจากภาวะซบเซาในตลาดสมาร์ทโฟนและความไม่แน่นอนจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน กลายเป็นตัวฉุดรั้งในภูมิภาค เนื่องจากเศรษฐกิจเอเชียหลายแห่งยึดโยงกับซัพพลายเชนของจีน
พีเอ็มไอสำหรับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งมีสมาชิกรวม 10 ประเทศ ลดลงจาก 50.3 จุดในเดือนธ.ค. มาอยู่ที่ 49.7 จุด ถือเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2560 เนื่องจากดัชนีคำสั่งส่งออกลดลงมาอยู่ที่ 48.4 จุดจาก 49.4 จุด
“ความต้องการส่งออกยังคงเป็นตัวแปรสำคัญที่ฉุดรั้งผลประกอบการของภาคการผลิต เนื่องจากความตึงเครียดทางการค้าทั่วโลกส่งผลให้ยอดคำสั่งส่งออกร่วงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน” เดวิด โอเวน นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทไอเอชเอส มาร์คิต ซึ่งรวบรวมผลสำรวจนี้กล่าว
ใน 7 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ถูกสำรวจ ดัชนีพีเอ็มไอการผลิตของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับบรรดาบริษัทอิเล็กทรอนิกส์และวิศวกรรมที่มีความเที่ยงตรงสูง ต่ำที่สุดอยู่ที่ 45.6 จุด ทำให้พีเอ็มไอของทั้งประเทศลดลงมาอยู่ที่ 50.1 จุดจาก 52.7 จุด
ข้อมูลทางการระบุว่า สิงคโปร์ กำลังเผชิญกับภาวะซบเซาด้านการผลิต เนื่องจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนธ.ค.ต่ำกว่าในเดือนพ.ย. 5.6% และผลสำรวจของรัฐบาลแสดงให้เห็นว่าบรรดาผู้ผลิตต่างคาดว่าปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจจะเป็นประโยชน์กับตนเองน้อยลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2562
ขณะที่พีเอ็มไอของอินโดนีเซีย ร่วงลงมาอยู่ที่ 49.9 จุดจาก 51.2 จุด ถือเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนม.ค. ปีที่แล้ว ส่วนพีเอ็มไอของฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมา ไทย ยังคงอยู่ระดับสูงกว่า 50 จุด แต่ล้วนลดลงจากเดือนก่อนหน้า
“แม้จะมีความคืบหน้าเชิงบวกเกี่ยวกับประเด็นการค้า ในช่วงที่สหรัฐและจีนกลับมาพูดคุยกันอีกครั้ง แต่ดูเหมือนว่าความต้องการในจีนที่ชะลอตัวลง จะสร้างความเสียหายต่อภูมิภาค และยังคงเป็นสาเหตุของความกังวลในอนาคตอันใกล้” ปริยันกา กิชอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐศาสตร์อินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบริษัทออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ระบุ
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน รายงานว่า ดัชนีพีเอ็มไอการผลิตทางการของจีนอยู่ที่ 49.5 จุดในเดือนม.ค. หดตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน
ตลาดการผลิตอื่น ๆ ในเอเชียต่างประสบความยากลำบากเช่นกันในเดือนม.ค. ที่ผ่านมา โดยพีเอ็มไอของไต้หวันลดลงมาอยู่ที่ 47.5 จุดจาก 47.7 จุด แตะระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2558 หลายบริษัทที่รายงานว่ามียอดขายส่งออกลดลง ต่างมองว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับความต้องการที่ลดลงทั่วตลาดสำคัญต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงจีนและสหรัฐ
ภาวะชะลอตัวของไต้หวันเคยปรากฏให้เห็นมาก่อนแล้วในผลประกอบการของบริษัทบางราย ยอดขายรายเดือนของบริษัทฮอนไห่ พรีซิชัน อินดัสทรี หรือที่รู้จักในชื่อ “ฟอกซ์คอนน์” ซึ่งดำเนินการประกอบชิ้นส่วนสมาร์ทโฟน ลดลงในเดือนธ.ค. 2561 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า นับเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 10 เดือน
ผลสำรวจของนิกเกอิ ระบุว่า ข้อมูลพีเอ็มไอของไต้หวันยังแสดงให้เห็นว่า ปริมาณการซื้อ สินค้าคงเหลือ และจำนวนแรงงานของบรรดาผู้ผลิต ต่างปรับตัวลดลง ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตอาจยังคงหดตัวต่อไปในช่วงหลายเดือนข้างหน้า