สนช. ผ่านร่าง กม. คุ้มครองแรงงานประมง เสียงเอกฉันท์ กำหนดเจ้าของเรือประมง ต้องจัดสวัสดิการขั้นต่อให้ลูกเรือ-ที่พัก-ความปลอดภัย พร้อมรับ อีก 2 ร่างพ.ร.บ.จาก ครม. ไว้พิจารณา
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ.... ฉบับที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ (กมธ.) ซึ่งมี พล.อ.ศุภกร สงวนชาติศรไกร เป็นประธาน กมธ. ด้วยเสียงเอกฉันท์ 140 เสียง
โดยร่างกฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ กำหนดกฎหมายกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิแรงงานประมงและป้องกันการบังคับใช้แรงงานประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมถึงให้สอดคล้องกับอนุสัญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคการประมง ค.ศ.2007 ทั้งนี้ร่างกฎหมายดังกล่าว มีบทบังคับให้ใช้เฉพาะเรือที่ใช้เพื่อการประมง ยกเว้น การประมงเพื่อยังชีพ, ประมงน้ำจืด, ประมงเพื่อนันทนากร และ ทำประมงตามขนาดเรือที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนด
ขณะที่เรือประมงที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ มีเนื้อหาสำคัญ อาทิ ให้เจ้าของเรือและแรงงานประมง จัดเกณฑ์ขั้นต่ำในการทำงาน ได้แก่ ที่พักอาศัย, อาหาร, การคุ้มครองความปลอดภัยและสุขอนามัยในการทำงานบนเรือ และ จัดสวัสดิการในการทำงาน ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 7 ฉบับ อาทิ กฎหมายว่าด้วยการประมง, กฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน, กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กำหนด ขณะที่การจัดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพในด้านต่างๆ กำหนดให้เจ้าของเรือต้องดำเนินการตามประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
ส่วนการตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่และสภาพการทำงานของเรือประมง ร่างกฎหมายกำหนดให้ 1.เรือที่ออกทำประมงเกิน 3 วัน และมีความยาวเรือจากหัวถึงท้ายเรือ 26.5 เมตรขึ้นไป และ 2.เรือที่ทำประมงเกิน3วันนอกน่านน้ำไทย ขณะที่บทกำหนดโทษระบุเพียงกรณีที่ฝ่าฝืนการให้ข้อเท็จจริงกับเจ้าพนักงานกรณีตรวจสอบสภาพ กิจการ สภาพการจ้างงาน คือ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 20,000 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ยังให้สิทธิ์ลดหย่อนโทษ กรณี โทษจำคุก หรือ ฟ้องร้อง เป็นการเปรียบเทียบปรับได้
ทั้งนี้ในชั้น กมธ.ฯ ได้แก้ไขบทบัญญัติของร่างกฎหมาย ที่มี 22 มาตราเล็กน้อย และได้รับความเห็นชอบ อาทิ แก้ไขคำนิยาม ว่าด้วย เรือประมง ให้หมายถึง ยานพาหนะทางน้ำทุกขนาดที่ใช้หรือเจตนาจะใช้เพื่อทำประมงในทางการค้า , แก้ไขรายละเอียดว่าด้วยการออกใบรับรองเรือประมง ส่วนข้อกำหนดให้เรือที่ออกไปทำประมงเกิน 3 วันและเดินเรือออกไปนอกน่านน้ำไทย และแก้ไขในส่วนบทเฉพาะกาล ว่าด้วยการจัดที่พักอาศัยบนเรือประมงที่มีดาดฟ้าและมีขนาดตั้งแต่ 300 กรอสส์ขึ้นไป กำหนดข้อยกเว้นไม่ให้ใช้บังคับกับเรือประมงที่ไม่ใช่เรือประมงที่ไม่ได้ขอจดทะเบียนเป็นเรือไทย เว้นแต่เป็นเรือประมงที่เคยจดทะเบียนเป็นเรือไทยและยกเลิกเพื่อไปจดทะเบียนเป็นเรือรัฐชายฝั่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าสำหรับการประชุม สนช. ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ยังมีมติรับหลักการของร่างกฎหมาย จำนวน 2 ฉบับที่คณะรัฐมนตรีเสนอ คือ ร่าง พ.ร.บ.การประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ และ ร่าง พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่.) พ.ศ.... ไว้พิจารณา ในชั้นกมธ. ด้วย
และที่ประชุม สนช. มีมติเห็นชอบให้ใช้ร่างกฎหมายเป็นกฎหมาย อาทิ ร่าง พ.ร.บ. ประกันชีวิต (ฉบับที่..) พ.ศ. ด้วยเสียงเอกฉันท์ 141 เสียง, ร่าง พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย (ฉบับที่... )พ.ศ.... ด้วยเสียงเอกฉันท์ 156 เสียง, ร่าง พ.ร.บ.สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ.... ด้วยเสียง เอกฉันท์ 173 เสียง เป็นต้น.