บก.จร.เข้มตรวจจยย.วิ่งทางเท้า เผยจับแล้วกว่า 1.4 หมื่นราย
บก.จร.คุมเข้มจยย.ขี่บนทางเท้า เผยสถิติจับแล้วกว่า 1.4 หมื่นราย ชี้ย่านวังทองหลาง ครองอันดับหนึ่ง
เมื่อเวลา 17.45 น. วันที่ 20 ก.พ.62 ที่ ป้ายรถประจำทาง อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ฝั่งเกาะพญาไท ถนนพหลโยธิน พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บังคับการตำรวจจราจร (ผบก.จร.) พ.ต.อ.ชัชชัย สำเนียง ผกก.5 บก.จร. นายจิรวัฒน์ แพงมา ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกวดขันวินัยจราจรบนทางเท้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพิ่มความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน อีกทั้งเป็นการยืดอายุการใช้งานทางเท้าให้สามารถใช้งานได้ต่อไป
พล.ต.ต.นิธิธร กล่าวว่า เนื่องด้วยมีข้อร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนที่ใช้ทางเท้าเป็นจำนวนมาก ส่งเข้ามายังเฟซบุ๊กแฟนเพจ “นิธิธร จินตกานนท์” รวมถึงเพจของหน่วยงานรัฐต่างๆ ว่าได้รับความเดือดร้อนจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการขี่ย้อนศร หรือขี่บนฟุตปาธ ที่นอกจากจะสร้างปัญหา ทำให้อิฐทางเท้าเสียหาย และยังก่อให้เกิดอุบัติเหตุตามมา ดังนั้น บก.จร. จึงได้ร่วมกันบูรณาการกำลังกับกรุงเทพมหานคร สำนักเทศกิจ กรมการขนส่งทางบก ทำการกวดขันวินัยการจราจรบนทางเท้า ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน ซึ่งพื้นที่ที่มีการตรวจจับมากเป็นอันดับหนึ่งคือ วังทองหลาง และรองลงมาคือ จตุจักร
พล.ต.ต.นิธิธร กล่าวต่อถึงผลการปฏิบัติในพื้นที่บริเวณถนนพหลโยธินว่า มีผลการจับกุมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ขับขี่บนทางเท้า จุดถนนพหลโยธิน จำนวน 68 ราย ซึ่งจากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดในพื้นที่ จะเห็นได้ว่า ผู้กระทำผิดส่วนมากมีทั้งจักรยานยนต์รับจ้าง และรถแมสเซนเจอร์ต่างๆ ทั้งนี้ ด้วยดำเนินการกวดขันอย่างเข้มงวดมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี2561 จนถึงปัจจุบัน บนพื้นที่ทั้งหมด 233 จุดรอบกรุงเทพฯ มียอดผู้กระทำผิดแล้วกว่า 14,526 ราย ซึ่งได้ดำเนินการตามกฎหมายไปแล้ว ซึ่งหากมีการกระทำผิดซ้ำก็จะพิจารณา ดำเนินการในขั้นตอนอื่นๆ ต่อไป
“โทษสำหรับผู้ที่ขับขี่บนทางเท้า จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งหมดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000บาท และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท ทั้งนี้ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ย้อนศร จะถูกต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาทอย่างไรก็ตาม หากมีการตรวจพบว่ารถที่ใช้ในการกระทำผิด มีการสวมทะเบียนมา ก็จะถูกดำเนินคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพราะถือเป็นความผิดทางอาญาอีกด้วย” ผบก.จร. กล่าว
พล.ต.ต.นิธิธร กล่าวถึงกรณีการใช้อาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ในการสกัดคนร้าย ว่า จะทำได้ต่อเมื่อผู้กระทำผิดมีความพยายามจะทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ ซึ่งหากมีการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ทางผู้เสียหายก็สามารถฟ้องร้องได้