ทั่วไป
บอร์ดบีโอไอคลอดมาตรการลดปัญหาฝุ่นละออง
บอร์ดบีโอไอเห็นชอบมาตรการช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษในระยะยาว โดยสนับสนุนให้โรงกลั่นน้ำมันปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเป็นมาตรฐานยูโร 5
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณามาตรการเพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษ ได้แก่ มาตรการเร่งรัดการลงทุนเพื่อให้โรงกลั่นน้ำมันปรับปรุงคุณภาพน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 รายในประเทศไทย เร่งรัดการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันจากมาตรฐานยูโร 4 ในปัจจุบันเป็นมาตรฐานยูโร 5 เพื่อลดค่าฝุ่นละอองและมลพิษสิ่งแวดล้อมจากน้ำมันในระยะยาวโดยมาตรการนี้จะช่วยเร่งรัดให้มีการปรับปรุงน้ำมันมาตรฐานเป็น ยูโร 5 เร็วขึ้นโดยผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรในการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน ทั้งนี้จะต้องยื่นขอรับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรการนี้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562
ปรับปรุงเงื่อนไขลงทุน “กิจการฐานความรู้”
ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ปรับปรุงเงื่อนไขในการให้ส่งเสริมกิจการฐานความรู้ อาทิ กิจการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือสัตว์ กิจการวิจัยและพัฒนา กิจการบริการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ กิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ กิจการบริการออกแบบทางวิศวกรรม และกิจการซอฟต์แวร์ เป็นต้นโดยกิจการดังกล่าวจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินเดือนบุคลากรเฉพาะด้านไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านบาทต่อปี หรือมีเงินลงทุนขั้นต่ำที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการฐานความรู้ไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) อย่างใดอย่างหนึ่ง
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้กิจการการผลิตหรือให้บริการระบบเกษตรสมัยใหม่ ที่มีจุดประสงค์เพื่อปรับเปลี่ยนภาคเกษตรกรรมของไทยจากการผลิตแบบดั้งเดิมเปลี่ยนไปเป็นเกษตรสมัยใหม่ให้จัดอยู่ในกลุ่มกิจการฐานความรู้และอยู่ภายใต้เงื่อนไขการให้ส่งเสริมข้างต้นเช่นเดียวกันด้วย
นางสาวดวงใจ กล่าวว่า บอร์ดบีโอไอเห็นชอบอนุมัติส่งเสริม 5 โครงการในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 40,462 ล้านบาท คาดสร้างการใช้วัตถุดิบจากยางธรรมชาติในประเทศ กว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. บริษัท เอดับเบิ้ลยู (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริม โครงการผลิตชุดเกียร์ส่งกำลังอัตโนมัติ เงินลงทุนทั้งสิ้น 7,244 ล้านบาท ตั้งโครงการในจังหวัดชลบุรี โครงการนี้จะผลิตเพื่อป้อนค่ายรถยนต์ชั้นนำ ทั้งในประเทศและในต่างประเทศ ซึ่งช่วยลดการนำเข้าชุดเกียร์ส่งกำลังอัตโนมัติจากต่างประเทศที่นำมาผลิตรถยนต์ในประเทศไทย
2. บริษัท เจนเนอรัล รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมโครงการผลิตยางล้อสำหรับยานพาหนะ เงินลงทุนทั้งสิ้น 9,721 ล้านบาท ตั้งโครงการในจังหวัดระยอง โครงการนี้จะสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากยางพาราในประเทศตามนโยบายรัฐบาล โดยจะใช้วัตถุดิบซึ่งเป็นยางธรรมชาติในประเทศประมาณ 35,398 ตัน/ปี มูลค่าประมาณ 1,673 ล้านบาท/ปี
3. MR. XUNNING JU ได้รับส่งเสริมโครงการผลิตยางล้อสำหรับยานพาหนะ เงินลงทุนทั้งสิ้น 10,061 ล้านบาท ตั้งโครงการในจังหวัดชลบุรี โครงการนี้จะสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากยางพาราในประเทศตามนโยบายรัฐบาล โดยจะใช้วัตถุดิบซึ่งเป็นยางธรรมชาติในประเทศประมาณ 23,838 ตัน/ปี มูลค่าประมาณ 1,433.3 ล้านบาท/ปี
4. เรืออากาศโท รณชัย วงศ์ชะอุ่ม ได้รับส่งเสริมโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน โดยเป็นการร่วมทุนของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กับบริษัทผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ของโลก เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,468 ล้านบาท ตั้งโครงการที่เมืองการบินภาคตะวันออก (EEC-A) จังหวัดระยอง โครงการนี้จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานรุ่นใหม่ รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพของช่างอากาศยานตามมาตรฐานสากล รวมทั้งช่วยดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยานและการบินให้เข้ามาลงทุนในไทยมากยิ่งขึ้น
5. บริษัท ไทยไลอ้อน เมนทารี จำกัด ได้รับส่งเสริมโครงการขนส่งทางอาอากาศ เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,968 ล้านบาท โดยเป็นกิจการสายการบินราคาประหยัด ให้บริการทั้งเส้นทางการบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว