ศธ.สร้างความเข้มแข็งการศึกษา เร่งขับเคลื่อนการศึกษา 6 ภาค
ศธ.สร้างความเข้มแข็งการศึกษา เร่งขับเคลื่อนการศึกษา 6 ภาค เน้นทุกฝ่ายมีส่วนร่วม
เมื่อวันที่ 26 ก.พ.62 พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ลงพื้นที่ประชุมมอบนโยบายและแนวทางการบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทั้ง 6 ภาค เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ทิศทางนโยบายและแนวทางการบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อนำแนวทางการบูรณาการการพัฒนาการศึกษาไปสู่การปฏิบัติในระดับภาค ที่เน้นการขับเคลื่อนให้เกิดความเชื่อมโยง มีการบูรณาการ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
โดยในการประชุมแต่ละภาค ได้เชิญศึกษาธิการภาค 6 ราย ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)แต่งตั้ง เพื่อกำหนดทิศทางการทำงานในพื้นที่ระดับภูมิภาคให้เกิดการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ โดยมี 5 องค์กรหลักทำงานร่วมกัน คือ สป. สพฐ. สอศ. สกอ. และสกศ. รวมถึงหน่วยงานใน สป. เช่น สำนักงาน ก.ค.ศ. กศน. สช. และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดในพื้นที่ โดยส่วนกลาง จะเป็นผู้กำหนดนโยบายและให้การสนับสนุนข้อระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนในพื้นที่ การบริหารราชการที่รัฐบาลกำหนดให้เป็น 6 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน แต่ละภาคจะมีสำนักงานศึกษาธิการภาค/จังหวัด ตลอดจนส่วนราชการในระดับจังหวัด ร่วมทำงานเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการด้านศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมและยืน สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศในบริบทและมิติต่างๆ เพื่อให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ประเทศไทยในปี พ.ศ.2580 เน้นพัฒนาผู้เรียนทุกกลุ่มวัย ตอบสนองบริบทพื้นที่แต่ละภาค
พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวย้ำถึงความสำคัญของ "ศึกษาธิการภาค" ด้วยว่า จะต้องมีลักษณะประจำตัว คือ เป็นนักเชื่อมโยง ไม่ว่าจะเป็นในระดับภาคหรือในระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างแท้จริง โดยเฉพาะจัดทำข้อมูลสารสนเทศของภาคให้เป็นระบบ โดยใช้งบประมาณ ฐานข้อมูล และบุคลากรที่มีอยู่แล้วมาดำเนินการ เพราะเมื่อฐานข้อมูลมีความสมบูรณ์ ก็จะนำไปสู่การทำงาน กำกับดูแล ติดตามผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในการทำงานทุกขั้นตอนต้องสร้างการรับรู้ควบคู่ไปด้วย ทั้งหมดนี้ เป็นการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาในระดับพื้นที่ของ ศธ. ทั้ง 6 ภาค เพื่อมุ่งหวังให้ การศึกษา เป็นรากฐานสำคัญ ต่อการวางแผนพัฒนาประเทศ สามารถแข่งขันกับนานาชาติ ก้าวสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน
ด้านนายอำนาจ วิชยานุวัติ รองปลัด ศธ. กล่าวว่า ศธ.ได้กำหนดแนวทางการบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาคเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยได้รับการศึกษาในระบบต่างๆ และเรียนรู้ตลอดชีวิต เด็กและเยาวชน ผู้เรียน มีทัศนคติที่ถูกต้อง มีพื้นฐานชีวิตที่เข้มแข็ง โดยที่การจัดการศึกษาต้องสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ที่เป็นการบูรณาการแผนงาน/โครงการให้มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกัน รวมทั้งการจัดทำงบประมาณเชิงบูรณาการ สามารถตอบสนองต่อการพัฒนาพื้นที่ในแต่ละภาค โดยกำหนดการทำงานเป็น 3 ส่วน 1.สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ทั้ง 6 ภาค ดูแลรับผิดชอบแต่ละพื้นที่ ตามแผนงาน/โครงการ/งบประมาณของทุกหน่วยงานที่ ศธ.ได้อนุมัติแล้ว ดังนี้ ภาคเหนือ 17 จังหวัด กำหนดให้ ศธภ.ภาคเหนือ (เชียงใหม่) รับผิดชอบ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่ให้เป็น “ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูงเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้าโขง” มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการแล้ว 94 โครงการ มีหลายโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุเกิดการสร้างรายได้และมีงานทำในรูปแบบกลุ่มอาชีพและกลุ่มวิสาหกิจ โดยทำงานร่วมกับชุมชน (Digital Ageing Society) เป็นต้น
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด โดย ศธภ.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อุดรธานี) รับผิดชอบ เพื่อตอบโจทย์การเป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” มีโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้ว 331 โครงการ มีโครงการสำคัญ เช่น โครงการพัฒนาทักษะอาชีพงานกระจกและอลูมิเนียมแบบบูรณาการเพื่อสร้างโอกาสการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชน โครงการพัฒนาโรงเรียนและเกษตรกรสู่ Startup Smart Farmer เป็นต้น
ภาคกลาง 17 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร โดย ศธภ.ภาคกลาง (ปทุมธานี) รับผิดชอบ เพื่อ“พัฒนากรุงเทพฯ สู่มหานครทันสมัยและภาคกลางเป็นฐานการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง” จำนวน 256 โครงการ มีโครงการสำคัญ เช่น การวางโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับศักยภาพความสามารถสำหรับผู้สูงอายุในเขตเมือง โครงการเสริมสร้างศักยภาพคนรองรับการท่องเที่ยวตามแบบวิถีชุมชน เป็นต้น
ภาคตะวันออก 8 จังหวัด โดย ศธภ.ภาคตะวันออก (ชลบุรี) รับผิดชอบ เพื่อมุ่งสู่การเป็น “ฐานเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน” จำนวน 134 โครงการ มีโครงการสำคัญ เช่น โครงการผลิตและพัฒนาอาชีพกำลังคนสู่อุตสาหกรรม First S-Curve และ New S-Curve การยกระดับความสามารถภาษาอังกฤษบุคลากรใน 10 อุตสาหกรรมรองรับพื้นที่ EEC เป็นต้น
ภาคใต้ 11 จังหวัด โดย ศธภ.ภาคใต้ (นครศรีธรรมราช) รับผิดชอบ เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้“เป็นเมืองท่องเที่ยวพักผ่อนตากอากาศระดับโลก เป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางพาราและปาล์มน้ำมันของประเทศ และเมืองเศรษฐกิจเชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับภูมิภาคอื่นของโลก” มี 202 โครงการ โครงการสำคัญ เช่น โครงการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการรักษาโรคมะเร็งสำหรับการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ “Medical Hub” โครงการพัฒนากระบวนการผลิตต้นแบบผลิตภัณฑ์ Oleochemical เป็นต้น
ภาคใต้ชายแดน 3 จังหวัด โดย ศธภ.ภาคใต้ชายแดน (ยะลา) และศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่ให้เป็น “แหล่งผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่สำคัญของประเทศ และเป็นเมืองชายแดนเชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยวกับพื้นที่ภาคใต้และการพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซียและสิงคโปร์” จำนวน 79 โครงการ โครงการสำคัญ เช่น โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนภาคใต้ชายแดน โครงการจัดตั้งห้องแล็บเพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยางพาราของประเทศ เป็นต้น
2.สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า ได้เชื่อมโยงทุกหน่วยงานในการเร่งจัดทำ Big Data โดยมีศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากําลังคนอาชีวศึกษาทั้ง 18 ศูนย์กลุ่มจังหวัดใน 6 ภาคร่วมรับผิดชอบ โดยมีภารกิจเร่งด่วนคือ จัดเก็บข้อมูลสถานประกอบการที่ลงทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงานไปยังสถานศึกษา ที่สำคัญคือการนำสถานประกอบการที่จดทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม มาลงทะเบียนในระบบ Big Data System ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนก.พ. 2562
3.สำนักงาน กศน. ปรับหลักสูตรอาชีวศึกษาให้เชื่อมโยงกับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษา, การจัดการศึกษาของผู้พิการ, โครงการทุนการศึกษาเฉลิมราชกุมารี, การจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมฯ ตอนปลาย (ทวิศึกษา) ซึ่งปีที่ผ่านมาจัดงบไปกว่า 237 ล้านบาท มีผู้เรียน 40,000 คน รวมทั้งดำเนินโครงการโรงเรียนประชารัฐร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการบูรณาการที่เป็นรูปธรรมชัดเจน
ขณะที่นายศรีชัย พรประชาธรรม เลขาธิการ กศน. กล่าวว่า ได้ชูบทบาทของสถาบัน กศน.ภาค เพื่อบูรณาการร่วมกับศึกษาธิการภาค/จังหวัด ตามโครงสร้างการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ. เช่น สนับสนุนการขยายผล "ชุมชนต้นแบบ" ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน, การแก้ไขปัญหาประชากรวัยเรียนนอกระบบการศึกษาเพื่อนำกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้มากที่สุด, ขยายผลการอบรมหลักสูตรการค้าออนไลน์, ส่งเสริมให้ประชากรอ่านออกเขียนได้ ตลอดจนส่งเสริมการเรียนภาษาที่ 2 และ 3 เพื่อขานรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอีกด้วย นอกจากนี้ กศน.จะขอเสนอเปิดสถาบัน กศน.ภาคใต้ชายแดนเพิ่ม เนื่องจากเดิม กศน.มี 5 ภาค เพื่อให้จัดการศึกษาเชิงบูรณาการไปสู่นโยบายสำคัญ "กศน.เข้มแข็ง" ในปี 2562 ชูศึกษาธิการภาตจะต้องเป็นนักเชื่อมโยงในพื้นที่