แนะ 5 วิธีดูแลตัวเอง เลี่ยงปัญหาฟันโยก
สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ ชี้ฟันโยกเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย และเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพช่องปากได้ พร้อมแนะ 5 วิธีดูแลสุขภาพฟัน
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปกติฟันทุกซี่ในช่องปากจะมีการโยกของฟันเล็กน้อยโดยธรรมชาติ แตกต่างกันในแต่ละซี่และแต่ละช่วงเวลา หากพบว่าฟันมีการโยกมากกว่าปกติ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ควรรีบพบทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา และรับคำแนะนำทางทันตกรรมอย่างถูกวิธี
ทันตแพทย์อำนาจ ลิขิตกุลธนพร ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การโยกของฟันที่มากกว่าปกติ พบได้ทั้งฟันน้ำนม และฟันแท้ เกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ ในเด็กเกิดจากการขึ้นของฟันแท้ ทำให้มีการโยกของฟันน้ำนมที่มากกว่าปกติ จากการสบฟันที่ผิดปกติ จากการบาดเจ็บของฟันจากอุบัติเหตุ และจากการเป็นโรคปริทันต์อักเสบเรื้อรัง (โรครำมะนาด) เป็นต้น โดยการโยกของฟันนั้น อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เหงือกบวม เหงือกมีสีแดง มีเลือดออกบริเวณขอบเหงือก รู้สึกเจ็บฟันเวลากัดฟัน มีเลือดออกขณะแปรงฟัน อาการเหล่านี้สามารถตรวจพบได้ด้วยตนเอง หากพบว่ามีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดข้างต้น ควรรีบพบทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรค และรับการรักษาให้ทันท่วงที เพื่อลดความรุนแรงของอาการดังกล่าว และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ตามเราสามารถป้องกันฟันโยกและอาการอื่นๆได้ โดยมีแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้ เลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนนุ่มหน้าตัดตรง ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ แปรงฟันอย่างถูกวิธี ใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง