สจล.ผุดโมเดลป้ายรถเมล์อัจฉริยะ เตือนภัยฝุ่นละอองขนาดเล็ก
สำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) และคณะแพทย์ศาสตร์ สจล. ผุดโมเดลป้ายรถเมล์อัจฉริยะเตือนภัยฝุ่นละอองขนาดเล็กในเขตเมือง เฝ้าระวังจุดเสี่ยงในพื้นที่การจราจรแออัด ติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัด PM2.5 และพัดลมระบายอากาศ
เมื่อวันที่ 14 มี.ค.62 ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวในงานแถลงข่าวเจาะปัญหาทางออกปัญหาวิกฤติฝุ่นประเทศไทย โครงการออกแบบป้ายรถเมล์อัจฉริยะเตือนภัยฝุ่น จัดโดย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ว่า “วันนี้เรากำลังเจอวิกฤตสำคัญของประเทศ กลายเป็นไฟไหม้ฟาง สิ่งเหล่านี้อันตรายถึงชีวิตแต่แค่รอเวลาเท่านั้นเอง ดังนั้น แนวทางการแก้ปัญหา สำหรับพี่น้องประชาชน ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ลดกิจกรรมที่เกิดฝุ่นในเขตมลพิษ การสวมหน้ากากอนามัยชนิด N95 หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้ง วันนี้วัฒนธรรมการสวมหน้ากากควรเป็นที่ยอมรับของสังคมไทย โรงเรียนควรมีเครื่องวัดฝุ่น และพฤติกรรมการใช้รถสำคัญ งดใช้รถ หันไปใช้รถสาธารณะ สำหรับแนวทางการแก้ไขของรัฐ คือ ควรตรวจเข้มยานพาหนะก่อฝุ่น การตรวจสอบโครงการก่อสร้าง การบริหารจัดการยานพาหนะของภาครัฐ ภาษีฝุ่นหยุดมลพิษ และหนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า
“เมื่อเดือนที่ผ่านมาเรายังเป็นห่วงเรื่อง PM2.5 อยู่ แต่วันนี้ข่าวหายไป แต่ฝุ่นไม่ได้หายไป ทาง สจล. ได้ออกไปทำการวิจัยปัญหาฝุ่นใน 4 พื้นที่เขตกรุงเทพฯ ได้แก่ พญาไท สยามสแคว์ สีลม และสะพานควาย พบว่า ยังคงมีปริมาณเกินมาตรฐานโดยเฉพาะป้ายรถเมล์ที่อยู่ใต้สถานีรถไฟฟ้า”
ล่าสุด สำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA)สจล. ได้ออกแบบโมเดลป้ายรถเมล์อัจฉริยะเตือนภัยฝุ่นละอองขนาดเล็กในเขตพื้นที่เมือง เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และสามารถเฝ้าระวังจุดเสี่ยงโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการจราจรแออัด ด้วยต้นทุนเพียง 20,000 บาทต่อจุด
รองศาสตราจารย์ ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) กล่าวว่า ปัจจุบันป้ายรถเมล์ในกรุงเทพฯ มีประมาณ 5,000 จุด ในจำนวนนี้มีจุดที่เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่นราว 1,000 จุด ดังนั้นการลงทุนตรงนี้จึงใช้งบประมาณไม่มาก สำหรับการก่อสร้างป้ายรถเมล์อัจฉริยะเตือนภัยฝุ่นละอองขนาดเล็กจะประยุกต์จากจุดรอรถเมล์ที่มีอยู่โดยติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่นละอองและพัดลม เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 หากเซ็นเซอร์ตรวจจับแจ้งว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในบริเวณนั้นมีสูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน ระบบพัดลมจะทำงานโดยอัตโนมัติ พร้อมติดตั้งป้ายแจ้งเตือนบอกคุณภาพอากาศโดยรวมของกรุงเทพมหานคร โดยโมเดลดังกล่าว ทางสจล. จะนำไปเสนอทางภาครัฐเพื่อพิจารณาต่อไป
“จากการลงพื้นที่เราเจอฝุ่นของรถเมล์ที่มากที่สุด ดังนั้น จึงต้องออกแบบเพื่อช่วยให้ประชาชนที่อยู่ป้ายรถเมล์จำนวนมากบรรเทาปัญหาระยะสั้น และต้นทุนตอบโจทย์ สามารถช่วยสังคมได้ นอกจากนี้ ป้ายรถเมล์อัจฉริยะเตือนภัยฝุ่นละอองขนาดเล็กสามารถพัฒนาและปรับปรุงต่อเพื่อให้เป็นสมาร์ท บัส สตอป (Smart Bus Stop) เช่น การมีฟังก์ชั่นเรียกรถพยาบาลหรือตำรวจ จอป้ายแจ้งเตือนที่มีปฏิสัมพันธ์กับคน (Interactive Panels) เป็นต้น
ทั้งนี้ สำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะได้พัฒนานวัตกรรมสมาร์ท ซิตี้ อื่นๆ ในการแก้ปัญหาสังคมเมือง เช่น การพัฒนาเอไอ (AI) ช่วยในการแก้ไขปัญหาจราจรแบบเรียลไทม์ บิ๊กเดต้า (Big Data) ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร การสร้างแก้มลิงใต้ดินสำหรับรองรับน้ำท่วมกรุงเทพฯ
“สำหรับ โรดแมปการคาดการณ์วิกฤติฝุ่นในรอบปีพ.ศ. 2562 – 2563 สำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) ได้จัดตั้งศูนย์รวบรวมติดตามข้อมูลมลพิษทางอากาศและวางแผนการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยทีมอาสาสมัครสม็อคแมน (SMOG Man) เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 แบบเรียลไทม์เฉพาะจุด รวมทั้ง การพัฒนาระบบการตรวจวัดฝุ่นละอองในแต่ละที่ตั้งเป้านำร่องสถานศึกษาทั่วกรุงเทพฯ โดยเขตลาดกระบังจะเป็นพื้นที่แรกในการเก็บสถิติเพื่อคาดการณ์ปริมาณฝุ่นละอองภายในเดือน กรกฎาคม 2562” รศ.ดร. ประพัทธ์พงษ์ กล่าว
ด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์อนันต์ ศรีเกียรติขจร คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงผลกระทบจาก PM2.5 เกินมาตรฐานว่า “ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว คือ กลุ่มทารก เด็ก และเยาวชน ที่มีกว่า 1,700,000 คน ที่อาศัยหรือเรียนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเด็กอีกกว่า 2,500,000 คนในเขตเมืองใหญ่ ทั้งเชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี แพร่ ลำปาง เป็นต้น หากไม่ได้รับการป้องกันที่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอด โรคทางสมอง และโรคมะเร็ง ซึ่งถือเป็นการทำลายทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคตทางอ้อม”
“ในระยะสั้นอาจจะฟังไม่น่ากังวลเท่าไหร่ เพียงแค่ระคายเคืองตา และส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ แต่ในขณะเดียวกันมันสามารถทะลุผ่านผนังของหลอดเลือดได้โดยตรง ซึ่งจะทำให้เกิดผลระยะยาว ทั้งต่อหลอดเลือด กระตุ้นให้เกิดการอักเสบบางอย่าง เกิดหลอดเลือดตีบ สิ่งหนึ่งที่น่ากังวล คือ มีการศึกษาเมืองในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประชากรราว 9 ล้านคน เกิดอุบัติการณ์ความเสื่อมในระบบประสาทสูงเท่าตัว ซึ่งนำไปสู่โรคสมองเสื่อม พาร์กินสัน และที่น่ากังวล คือ มีการตายแบบไม่ใช่อุบัติเหตุสูงขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์ พบว่า ทารกมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ มีอุบัติการณ์ภาวะโรคเข้าข่ายของออทิสติกสูงขึ้นอีกด้วย” ศาสตราจารย์ นายแพทย์อนันต์ กล่าว