ปลื้มละคร 'ทองเอกหมอยาท่าโฉลง' ช่วยสืบทอดภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
โฆษกกรมการแพทย์แผนไทยฯ ขอบคุณผู้สร้างละครทองเอกหมอยาท่าโฉลง ถ่ายทอดองค์ความรู้ประโยชน์จากสมุนไพรใช้ดูแลสุขภาพ
นายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในฐานะ โฆษกกรม กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณผู้สร้างละครเรื่องทองเอกหมอยาท่าโฉลงที่นำเสนอให้ คนรุ่นหลังได้เห็นวิถีชีวิตของบรรพบุรุษของเราในการใช้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยรักษาโรคต่าง ๆ การออกอากาศตอนแรก เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2562 ละครได้นำเสนอถึงกลุ่มอาการโรคดานลม ซึ่งปรากฎตามอาการของคุณนายสายหยุดที่เป็นในละคร คือ ปวดท้องเรื้อรัง กรมการแพทย์แผนไทยฯจึงถือโอกาสเพิ่มข้อมูลเชิงวิชาการของโรคดังกล่าว เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน
สำหรับโรคดานลมในทางการแพทย์แผนไทยนั้นคือ อาการท้องผูกมีสาเหตุมาจากระบบย่อยอาหาร ในร่างกายไม่ดี รับประทานผัก ผลไม้ และดื่มน้ำค่อนข้างน้อยหรือสาเหตุทางอารมณ์ เช่น ความเครียด วิตกกังวล รวมไปถึงเกิดจากความเสื่อมของร่างกายเป็นได้ทั้งชายและหญิงลักษณะอาการของโรคนั้นมักมีอาการท้องผูกเป็นประจำ ไม่ถ่ายอุจาระนาน 3-5 วัน ขับถ่ายลำบาก อุจจาระมีลักษณะแห้ง เป็นก้อนแข็งคล้าย ขี้แพะ เนื่องจากกากอาหารถูกเก็บในลำไส้เป็นเวลานาน เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารจะทำให้มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียด หรือบางครั้งมีอาการปวดหลัง ชาปลายมือปลายเท้าร่วมด้วย บางรายมีอาการใจหวิว ใจสั่น เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย เวียนศรีษะ หงุดหงิดง่าย และอารมณ์ไม่แจ่มใส
สำหรับการรักษาทำได้ทั้งหัตถการและการใช้ยา ในส่วนของหัตถการ คือ การนวดรักษาโดยการโกยท้องเป็นการไล่ลมออกและมีการจ่ายยาในกลุ่มสมุนไพรรสร้อนช่วยกระจายลมในท้องเช่นยาธรณีสันฑะฆาตซึ่งปัจจุบันมีชนิดแคปซูลไม่ต้องลำบากต้มยาเหมือนสมัยก่อน รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 1 กรัม วันละ 1 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า หรือก่อนนอนหรือเมื่อมีอาการ ส่วนข้อห้ามและข้อควรระวัง คือ ห้ามใช้ในผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีไข้และเด็ก ควรระวังการรับประทานร่วมกับกลุ่มยาละลายลิ่มเลือด และควรระวังการใช้ในผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ ควรรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง เป็นต้น หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสฝาดเนื่องจากรสฝาดแสลงกับอาการท้องผูกดื่มน้ำอุ่นและดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้วควรออกกำลังกายเพื่อช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวดีขึ้น ไม่กลั้นอุจาระ ควรขับถ่ายให้ตรงเวลา และหลีกเลี่ยงความเครียด สนใจข้อมูลสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02 591 7007 ต่อกองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก