'นักวิชาการ' ชี้เลือกตั้งคะแนนแพ้-ชนะไม่ขาด
"นักวิชาการ" คาดเลือกตั้งคะแนนแพ้-ชนะกันไม่ขาด อย่างมากได้ 20,000 คะแนน โค้งสุดท้ายทุกพรรคเน้นนโยบายเศรษฐกิจ 80% หวั่นประชาชนเบื่อประชานิยม
เมื่อวันที่ 21 มี.ค.62 นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ นักวิชาการอิสระ และอดีตเลขาธิการหอการค้าภาคอีสาน กล่าวถึงการเลือกตั้ง ส.ส.ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ที่จะมาถึงในวันที่ 24 มีนาคม 2562 นี้ โดยกล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้แต่ละเขตเลือกตั้งของ จ.นครราชสีมา จะมีผู้มีสิทธิ์อยู่ประมาณ 140,000 – 150,000 คะแนน ซึ่งการนับคะแนนจะไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะทุกคะแนนมีความหมาย เพื่อนำไปรวมกับคะแนนทั่วประเทศสำหรับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ถ้าเป็นในอดีตพรรคใดรู้ตัวว่าสู้ไม่ได้ก็จะถอยออกไปเลย แต่ปัจจุบันนี้ผู้สมัครทุกพรรคลงพื้นที่หาเสียงกันอย่างดุเดือด อย่างเช่นเขตเลือกตั้งที่ 1 ของ จ.นครราชสีมา จะมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งประมาณ 140,000 คน แต่มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัคร ส.ส.มากถึง 41 คน
โดยมี 4 พรรคการเมืองใหญ่ที่จะแย่งคะแนนกัน ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติพัฒนา ถ้ามีผู้มาใช้สิทธิ์ 80% ก็จะมีอยู่ประมาณ 120,000 คน โดยแบ่งคะแนนเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่ม 90,000 คะแนน กับกลุ่ม 30,000 คะแนน ซึ่งกลุ่ม 90,000 คะแนน จะมี 4 พรรคการเมืองใหญ่ข้างต้นแย่งคะแนนกัน
ส่วนกลุ่ม 30,000 คะแนน พรรคทั่วไปที่เหลือจะแย่งคะแนนส่วนนี้ไป เพราะทุกพรรคก็ต้องการคะแนนปาร์ตี้ลิสต์จากผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคฯ เหมือนกัน ดังนั้นเมื่อมีคะแนนจำกัดอยู่เท่านี้ การจะได้คะแนนชนะขาดกันเหมือนในอดีตจะเกิดขึ้นได้ยากมาก ในอดีตโคราชเคยมีผู้สมัคร ส.ส.ได้คะแนนมากถึง 58,000 คะแนน (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) แต่เที่ยวนี้ตนเชื่อว่าคะแนนจะแพ้ ชนะกันแบบสูสีกันมาก ถ้าหารเฉลี่ยต่อผู้สมัคร ส.ส.แต่ละคน จะได้ประมาณ 3,000-4,000 คะแนน ส่วนกลุ่มผู้ชนะกับคู่แข่งใกล้เคียงกัน ก็จะได้ประมาณ 15,000-20,000 คะแนนเท่านั้น
"ส่วนการหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ สังเกตว่าทุกพรรคเน้นไปในเรื่องเศรษฐกิจ 80% ส่วนอีก 20% เป็นเรื่องอื่นๆ ขณะที่นโยบายประชานิยมเริ่มเบาลงแล้ว เพราะอาจจะรู้ว่าประชาชนต้องการเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากกว่าเศรษฐกิจแบบประชานิยม เพราะประชานิยมเป็นแค่ของแถม ถ้าให้ก็ดี แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี คนตกงานมาก บ้านถูกยึด รถถูกยึด ประชาชนมองเห็นอนาคตแล้วไม่เอาด้วยแน่นอน ดังนั้นประชาชนส่วนใหญ่ก็เริ่มมองดูนโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคการเมืองต่างๆ ว่าจะสามารถช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้จริงหรือไม่ ก่อนการตัดสินใจเลือก ทำให้ทุกพรรคการเมืองต้องมาเน้นนโยบายด้านเศรษฐกิจกันมากในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ จึงสังเกตเห็นว่าแต่ละพรรคจะมีการเปลี่ยนป้ายหาเสียงกันแทบทุกวันขณะนี้" นายทวิสันต์ กล่าว