พปชร.ลั่นผลักดันกม.รองรับที่พัก 'รายย่อย-ขนาดเล็ก' ให้ถูกต้อง
แกนนำ พปชร. พบกลุ่มผู้ประกอบการที่พักรายย่อย แถลงนโยบายด้านที่พัก ตั้งระบบรับจองที่พักโดยคนไทย-ตัดค่าหัวคิว พร้อมผลักดันกม.รองรับที่พัก "รายย่อย-ขนาดเล็ก" ให้ถูกต้อง
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2562 เวลา 10.00 น. ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ลงพื้นที่ถนนข้าวสาร เขตพระนคร กทม.เพื่อร่วมหารือแนวนโยบายกับกลุ่มตัวแทนผู้ประกอบการโฮมสเตย์ และที่พักรายย่อย ก่อนแถลงนโยบายด้านโฮมสเตย์ และที่พักรายย่อย และลงพื้นที่พบปะพี่น้องย่านข้าวสาร ที่มาต้อนรับและให้กำลังใจ
ดร.กอบศักดิ์ ระบุว่า ในวันนี้เราได้มาร่วมพูดคุยกับตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการโฮมสเตย์ โฮสเทล เกสเฮาส์ต่างๆ ที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ทุกกลุ่มของประเทศไทย ว่าเมื่อดำเนินการกิจการไปแล้วกฎเกณฑ์ไม่ชัด และมีการเอากฎเกณฑ์ของโรงแรมมาจับใช้ จนกลายเป็นปัญหา และผู้ประกอบการต้องถูกจับอยู่ประจำ กลายเป็นความทุกข์ ที่พี่น้องประชาชนอยากได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งตนได้มีการลงพื้นที่เพื่อไปดูว่า กลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มนี้เขามีปัญหาอย่างไร ต้องการอะไรบ้าง พร้อมหารือกับประชาชนมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เพิ่งมีโอกาสที่จะเล่าออกมาอย่างเป็นทางการ ว่ามาตราการที่เราจะทำมีอะไรบ้าง
ปัญหาที่มีอยู่ในกลุ่มโฮมสเตย์ไทยส่วนมาก จากตัวเลขของ แอร์บีแอนด์บี พบว่า ในปัจจุบันได้มีการรับนักท่องเที่ยวเข้ามาพักในที่พักของกลุ่มนี้มากเป็นพิเศษ โดยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาและพักที่ที่พักในลักษณะนี้ของประเทศไทยราว 2 ล้านคน ซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และปัญหาของเขาก็คือ การที่จะบอกว่าที่ไหนเป็นโฮมสเตย์ จะต้องใช้พ.ร.บ.ที่เป็นพ.ร.บ.ของโรงแรมเข้ามาจับ ซึ่งพ.ร.บ.โรงแรมในปัจจุบันมีแนวคิดว่า โรงแรมจะต้องเป็นโรงแรมที่เหมือนกับแอมบาสเดอร์ เป็นโรงแรมใหญ่ๆ ที่ต้องมีห้อง มีพื้นที่ มีทางเดินหน้าห้องกว้างๆ มีบันไดใหญ่ๆ มีพื้นที่จอดรถเยอะ และขณะเดียวกันคือต้องอยู่ห่างจากพื้นที่ชุมชน แต่คำว่า โฮมสเตย์นั้นคือ นักท่องเที่ยวมาอยู่ที่บ้านของคน ไม่ใช่โรงแรมในลักษณะนั้น
ดร. กอบศักดิ์ ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจกลุ่มนี้มากกว่า 7 หมื่นรายทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการให้บริการที่พักอาศัยได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากติดข้อกฎหมายต่างๆ เช่น พ.ร.บ.ผังเมือง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร เป็นต้น
เนื่องจาก วิถีการท่องเที่ยว ของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เปลี่ยนไปมาก พบว่านักท่องเที่ยวจำนวนมาก ต้องการที่พักราคาย่อมเยาว์ เพื่อให้สามารถพักได้ในช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้น อีกทั้งยังอยากสัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการกิน การอยู่อาศัยของคนไทย ซึ่งที่พักรายย่อยเหล่านี้สามารถตอบโจทย์นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษา จำนวนห้องที่เหมาะสม เพื่อออกระเบียบรองรับ ที่พักรายย่อยเหล่านี้ ทั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐ เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว และพร้อมผลักดันให้เป็นรูปธรรมต่อไป
"จากการหารือกับผู้ประกอบการ พรรคพร้อมสนับสนุนการแก้ไขกฎเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และ พ.ร.บ.ผังเมือง เพื่อให้ผู้ประกอบการ 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.ห้องพักไม่เกิน 20 ห้อง ผู้พักไม่เกิน 40 คน และ 2.สำหรับห้องพักไม่เกิน 80 ห้อง สามารถจดทะเบียนให้บริการได้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยจะมีการตั้งหลักเกณฑ์มาตรฐานการดัดแปลงอาคารเดิมที่เปิดบริการเป็นที่พัก และมีการวางเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเช่นการดับเพลิง ให้เหมาะสมกับการให้บริการที่พักในแต่ละขนาด" ดร.กอบศักดิ์ กล่าว
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ พรรคพลังประชารัฐยังพร้อมสนับสนุนการตั้งระบบการจองห้องพักผ่านทางเว็บไซต์ โดยให้มีองค์กรกลางเข้ามาดูแล เนื่องจากในปัจจุบันผู้ให้บริการการจองที่พัก ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดจะจดทะเบียนในต่างประเทศและเป็นมีรายใหญ่อยู่เพียงไม่กี่ราย ทำให้เกิดการผูกขาดในเชิงราคา ส่งผลให้โรงแรมต่างๆในประเทศไทย ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในสัดส่วนที่สูง โดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็กที่มีอำนาจต่อรองน้อย ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 30 ล้านต่อปี พรรคพลังประชารัฐมั่นใจว่าด้วยศักยภาพการท่องเที่ยวของประเทศไทย จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเลือกใช้บริการการจองที่พักที่ตั้งโดยคนไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการคนไทย เสียอัตราค่าธรรมเนียมที่ต่ำลงในอนาคต
ด้านนายอำนาจ ดวงสิงห์ กรรมการ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.เชียงใหม่ ตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบการโฮมสเตย์ และที่พักรายย่อย กล่าวว่า ปัจจุบันการท่องเที่ยวเปลี่ยนไป มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชน มีธุรกิจใหม่ๆเกิดขึ้นในชุมชน มีการนำหอพัก ที่พักอาศัย มาทำเป็นโฮมสเตย์ เกสเฮาส์ โฮสเทล ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับ ทางเราจึงได้มาขอความช่วยเหลือจากท่านกอบศักดิ์ ว่าจะมีทางออกให้กับประชาชนที่เป็นผู้ประกอบการกลุ่มนี้อย่างไร เกี่ยวกับข้อกฎหมายที่จะออกมารองรับในอนาคต ซึ่งได้ทำการติดต่อหารือเรื่องดังกล่าวร่วมกันมาเป็นเวลา 4 เดือนแล้ว ขณะนี้ก็อยู่ในช่วงการเก็บข้อมูลในแต่ละท้องที่ว่า ผู้ประกอบการแต่ละคนมีปัญหาในส่วนใดบ้าง ติดขัดข้อกฎหมายอย่างไร เพื่อจะนำไปแก้ไขในอนาคตต่อไป