'ฉัตรชัย' ถกเตรียมรับมือภัยแล้งหลัง
“ฉัตรชัย” เรียกประชุมอนุกรรมการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ รับมือภัยแล้งหลัง ปภ.ประกาศพื้นที่ภัยแล้งแล้ว 3 จังหวัด สั่งงดปลูกพืชใช้น้ำมาก หลังมีการปลูกข้าวเกินกว่ากำหนด 1.18 ล้านไร่ ใช้น้ำต้นทุนกว่า 1 พันล้านลบ.
นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่มีพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมาว่าที่ประชุมฯได้มีการหารือ วิเคราะห์ ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้ภายหลังจากที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งไปแล้วในพื้นที่ 3 จังหวัด 8 อำเภอ 30 ตำบล ในพื้นที่จ.ร้อยเอ็ด จ.ศรีษะเกษ และจ.ตราด
ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งพบว่าลักษณะอากาศในระยะ 3 เดือนนี้ประเทศไทยยังคงมีสภาพเป็นเอลนีโญ่อ่อนๆ และจะกลับลงมาสู่สภาพเป็นกลางในกลางปีนี้ ขณะที่ปริมาณฝนสะสมจากต้นปีถึงปัจจุบัน คาดว่าปริมาณฝนรวมในเดือนเมษายนจะมีฝนมากกว่าเดือนมีนาคม แต่ยังมีพื้นที่มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และซีกตะวันตกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่ในเดือนพฤษภาคมคาดว่าประเทศไทยปริมาณฝนจะใกล้เคียงค่าปกติ แต่อาจยังมีฝนน้อยในภาคเหนือตอนล่าง ด้านตะวันตกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน
ในส่วนของการแจ้งเตือนเกษตรกรให้งดการปลูกพืชฤดูแล้งและพืชต่อเนื่องใน 21 จังหวัดปลูกเกินแผน จำนวน 1,186,336 ไร่ และนอกเขตชลประทาน มี 7 จังหวัด ปลูกเกินแผน จำนวน 133,702 ไร่ รวมทั้งประเทศ 36 จังหวัด ปลูกเกินแผน จำนวน 1,320,038 ไร่ รวมทั้งมีการปลูกพืชล่าช้าและต่อเนื่องซึ่งคาดว่าจะทำให้ใช้ปริมาณน้ำมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าที่ประชุมฯได้มีการหารือถึงสถานการณ์ของน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศโดย ณ วันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมามีปริมาณน้ำภาพรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 49,467 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น59% ของปริมาณกักเก็บน้ำทั่วประเทศ โดยมีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ซึ่งเป็นปริมาณที่ต้องเฝ้าระหวัง 118 แห่ง แบ่งเป็นขนาดกลาง 113 แห่ง และขนาดใหญ่ 5 แห่ง โดยที่ประชุมฯได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเป็นเจ้าภาพหลักในการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำและการจัดสรรน้ำ ทั้งกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่น กำหนดแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ อ่างเก็บน้ำเฝ้าระวัง ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% ได้แก่ ขนาดใหญ่ ภาคเหนือ 1 แห่ง คือ เขื่อนแม่มอก 23 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 24% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ 52 ล้าน ลบ.ม. 3% สิรินธร 81 ล้าน ลบ.ม. 7% ลำนางรอง 34 ล้าน ลบ.ม. 29% ห้วยหลวง 33 ล้าน ลบ.ม. 25% และลำปาว 539 ล้าน ลบ.ม. 29% ภาคกลาง 3 แห่ง ทับเสลา 22 ล้าน ลบ.ม. 15% กระเสียว 15 ล้าน ลบ.ม. 6% และป่าสักชลสิทธิ์ 276 ล้าน ลบ.ม.29% ขนาดกลาง 112 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 10 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 87 แห่ง ภาคกลาง 13 แห่ง ภาคใต้ 2 แห่ง ซึ่งคาดว่าปริมาณน้ำใช้การได้ของเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 5 แห่ง ยังเพียงพอจนถึงสิ้นสุดเดือนพฤษภาคม ยกเว้นเขื่อนอุบลรัตน์ที่จะมีการดึงน้ำ Dead Storage มาใช้ตามแผนที่กำหนดไว้เดิมประมาณ 88 ล้าน ลบ.ม. (ปริมาณน้ำเท่ากับปี 59) เพื่อช่วยเรื่องน้ำอุปโภค-บริโภคเป็นหลัก ซึ่งจะไม่กระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนในต้นฤดูฝน