‘พาณิชย์’ เดินหน้าเจรจาเอฟทีเอไทย – ตุรกี
"พาณิชย์" เดินหน้าเจรจาเอฟทีเอไทย – ตุรกี เน้นหารือการเปิดตลาดสินค้า และการลดภาษีศุลกากรระหว่างกัน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จะเดินทางพร้อมคณะผู้แทนไทย ได้แก่ กรมการค้าต่างประเทศ กรมศุลกากร กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เข้าร่วมการประชุมเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย ตุรกี ครั้งที่ 5 ซึ่งตุรกีเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 10 12 เมษายน 2562 ณ กรุงอังการา สาธารณรัฐตุรกี สำหรับการเจรจารอบนี้เน้นหารือรายละเอียดการเปิดตลาดสินค้าและการลดภาษีศุลกากรที่ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อเสนอเปิดตลาดสินค้าเบื้องต้น (Initial Offer) ระหว่างกันไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มยกเลิกภาษี กลุ่มทยอยลดภาษี และกลุ่มอ่อนไหวสูง รวมทั้งจะสานต่อการเจรจาจัดทำข้อบทต่างๆ ซึ่งค้างจากการประชุมครั้งก่อนที่ไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนธันวาคม 2561 โดยคาดว่าจะสามารถได้ข้อสรุปเกี่ยวกับข้อบทสำคัญของความตกลงเอฟทีเอไทย ตุรกี ในการเจรจารอบนี้ อาทิ ข้อบทว่าด้วยการค้าสินค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ซึ่งจะทำให้การเจรจามีความคืบหน้าตามแผนที่วางไว้ และสามารถสรุปผลการเจรจาได้ภายในปี 2563
นางอรมน กล่าวเสริมว่า ไทยให้ความสำคัญกับการเจรจาจัดทำเอฟทีเอไทย ตุรกี เนื่องจากจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยมุ่งเน้นการขจัดอุปสรรคทางการค้า ทั้งในด้านภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี ตลอดจนการเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุน ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถผลักดันมูลค่าการค้าสองฝ่ายให้ถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายหลังการจัดทำความตกลงฯ สำหรับสินค้าสำคัญของไทยที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากเอฟทีเอไทย ตุรกี เช่น พืชเส้นใย ขนสัตว์และไหม สิ่งทอ ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์อินทรีย์ พลาสติกและผลิตภัณฑ์จากพลาสติก ยางและผลิตภัณฑ์จากยาง หม้อไอน้ำ เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ในปี 2561 ตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 36 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 1,427.02 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปตุรกีมูลค่า 1,082.22 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากตุรกีมูลค่า 344.80 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ตุรกีถือเป็นตลาดใหม่ขนาดใหญ่ของไทย มีประชากรกว่า 80 ล้านคน และมีนักท่องเที่ยวประมาณ 40 ล้านคน อีกทั้งยังตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์การค้าที่สำคัญ เชื่อมต่อระหว่างเอเชียกับยุโรป และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง จึงสามารถเชื่อมโยงไปสู่ตลาดยุโรป ตะวันออกกลาง รวมทั้งแอฟริกาตอนเหนือได้อีกด้วย