กรมสุขภาพจิต ดึงพลังครอบครัวร่วมดูแล ยอมรับ และสู้ไปด้วยกันกับเด็กออทิสติก
กรมสุขภาพจิต เน้นดึงพลังครอบครัวร่วมดูแล ยอมรับ ทุ่มเท และสู้ไปด้วยกันกับเด็กออทิสติก
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้เป็นวันออทิสติกโลก ในปีนี้ได้เน้นการรณรงค์ส่งเสริมพลังครอบครัวในการดูแลเด็กออทิสติก ให้เปิดใจยอมรับโดยไม่มองว่าเด็กเป็นส่วนเกินของครอบครัวและสังคม ขณะเดียวกันก็พร้อมทุ่มเทและสู้ไปด้วยกัน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อโอกาสในการรักษา ย้ำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง สังเกตบุตรหลาน หากพบสัญญาณเตือน “ไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว ไม่ชอบเปลี่ยนแปลง” ให้รีบพาเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เพราะการได้รับการบำบัดฟื้นฟูในช่วงเด็กอายุ 2 - 5 ปีแรก จะให้ผลดีต่อการพัฒนาสมอง ทำให้เด็กสามารถมีชีวิตปกติแบบคนทั่วไปได้ดี นอกจากนี้ทุกภาคส่วนควรร่วมกันเปิดพื้นที่บวก ให้โอกาสบุคคลออทิสติก ได้มีที่ยืนในสังคมให้มากขึ้น เพื่อทำให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามศักยภาพอย่างมีความสุข ทั้งนี้จากการสำรวจของสมาคมออทิสติกแห่งชาติ (The National Autistic Society) ประเทศอังกฤษ พบว่า มีผู้ป่วยออทิสติกวัยผู้ใหญ่เพียงร้อยละ16 ที่สามารถทำงานเลี้ยงชีพและมีรายได้
นอกจากนี้ผู้ป่วยออทิสติกถูกจัดว่าเป็นแรงงานไม่มีความชำนาญ จึงได้รับค่าตอบแทนในระดับต่ำ มีอัตราการเปลี่ยนงานบ่อยและมีความยากลำบากในการปรับตัวกับสถานที่และเพื่อนร่วมงาน สำหรับประเทศไทยพบบุคคลออทิสติกไม่ถึง 100 คน ที่มีงานทำ มีรายได้ โดยในส่วนของกรมสุขภาพจิตได้มอบหมายให้โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัดที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านออทิสซึม ดำเนินการพัฒนาความพร้อมของบุคคลออทิสติกในการเข้าสู่โลกของการทำงานในชีวิตจริง ส่งเสริมการใช้ความสามารถ การมีงาน มีรายได้และพึ่งพาตนเอง เพื่อลดภาระและเพิ่มคุณภาพชีวิตของบุคคลออทิสติกและครอบครัว รวมทั้งดำเนินการเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการบำบัดรักษาในเด็กออทิสติก อายุ 2 - 5 ปี ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถเพิ่ม จากร้อยละ 8.51 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 56.85 ในปี 2561
แพทย์หญิงนพวรรณ ศรีวงค์พานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กล่าวว่า “ออทิซึม” เป็นโรคที่มีความผิดปกติของการพัฒนาสมอง ด้านสังคม ภาษาและพฤติกรรม ในไทยพบเด็กออทิสติก กลุ่มอายุไม่เกิน 5 ปี 1 ต่อ 161 คน คาดว่าทั่วประเทศมีประมาณ 18,220 คน ระดับความรุนแรงของโรคแต่ละคนไม่เท่ากัน ประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนที่พบมีความเป็นอัจฉริยะในบางด้าน เช่น การวาดภาพหรือเล่นดนตรี, ร้อยละ 20 มีไอคิวต่ำที่ระดับน้อยถึงปานกลาง และอาจมีปัญหาพฤติกรรมร่วมด้วย แต่สามารถเรียนร่วมและฝึกอาชีพได้, ส่วนที่เหลือต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยการบำบัดรักษาต้องผสมผสานทั้งด้านพัฒนาการ การจัดรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสม ส่งเสริมอาชีพ การมีงานทำ และการอยู่ร่วมกันในสังคม และในโอกาสวันรณรงค์ตระหนักรู้ภาวะออทิซึม (Autism Awareness Day) ประจำปี 2562 โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กรมสุขภาพจิต ได้จัดกิจกรรมรณรงค์สร้างความตระหนัก ภายใต้หัวข้อ “โอบรัก เข้าใจ ก้าวไปด้วยกัน” ณ ลานอีเดน 2 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรักความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภาวะออทิซึม และเพิ่มโอกาสให้เด็กและบุคคลออทิติกอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีคุณค่าและมีความสุข
ภายในงาน มีกิจกรรมการเสวนาเรื่องเด็กออทิสติก โดย คุณนิโคลีน มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2018 ที่สู้เพื่อน้องชาย, แรงบันดาลใจจากละครวัยแสบสาแหรกขาด 2 โดยคุณเอิน ณิธิภัทร์ - คุณฟลุท ชินพรรธน์ , คุณวรรณษา ทองวิเศษ กับการเลี้ยงลูกออทิสติก, คุณโจเซฟ The voice 5 กับการเป็นครูดนตรีบำบัด พร้อมกับการแสดงของเด็กออทิสติกร่วมกับศิลปิน โก้ มิสเตอร์แซ็กแมน ต้อม เรนโบว์ ต่าย สายธาร จอห์น The voice 3 ในงานได้มีการจัดแสดงผลงานของเด็กออทิสติก บนผลิตภัณฑ์แบรนด์ดัง คุณเป๋า สรรพสิทธิ์ Timo trunks, คุณโปสเตอร์ Heartist และกิจกรรมร่วมประมูลของรักดารา ในโครงการ “ดาราร่วมใจให้เด็กออทิสติก” ณเดชน์ คูกิมิยะ, ก้อง นูโว, แจ๊ส ชวนชื่น, สกาย ฮอร์โมน, อาเล็ก ธีรเดช ,วง Zeal ท่านอื่นเพื่อสมทบทุนช่วยเหลือเด็กออทิสติก ร่วมถึงการแสดงดนตรีจากศิลปิน อีกด้วย