รูดม่านคลังอาเซียนลงนามเปิดเสรี 'โบรก-บลจ.'
รูดม่านคลังอาเซียนครั้งที่ 23 ลงนามข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินฉบับที่ 8 ว่าด้วยการเปิดเสรีการเงิน ไฟขียวต่างชาติถือหุ้นโบรกเกอร์-บลจ.ได้ 100%
การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ครั้งที่ 23 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 3-5 เม.ย.2562 ที่จังหวัดเชียงราย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสมาชิกทั้ง 10 ชาติร่วมลงนามพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินฉบับที่ 8 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าการบริการของอาเซียน โดยการเจรจาพิธีสารดังกล่าวได้เริ่มต้นในปี 2559 และ ได้ข้อสรุปในปีนี้ จึงมีการลงนามร่วมกันดังกล่าว
ทั้งนี้ ในพิธีสารฯฉบับที่ 8 นี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศได้มีการตกลงในรูปแบบทวิภาคีเกี่ยวกับการเปิด Qualified ASEAN Banks(QABs) ซึ่งทำให้การจัดตั้งธนาคารของประเทศสมาชิกอาเซียนในประเทศสมาชิกอาเซียนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าในการเปิดเสรีประกันวินาศภัย โดยเฉพาะการประกันภัยทางน้ำ ทางอากาศ และ การขนส่งและมีการผ่อนคลายอุปสรรคการเปิดเสรีในสาขาหลักทรัพย์ด้วย "พิธีสารฯฉบับที่ 8 มีสาระสำคัญส่วนใหญ่เช่นเดียวกับพิธีสารฯฉบับที่ 7 ที่ได้เคยมีการลงนามไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ฉบับนี้แตกต่างเรื่องของข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ซึ่งได้ปรับปรุงข้อผูกพันในสาขาหลักทรัพย์ สาขาย่อยบริการจัดการลงทุนในการอนุญาตให้มีสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในบริษัทจัดการลงทุนได้ถึง 100% ของทุนที่ชำระแล้ว โดยยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ต้องมีสถาบันการเงินที่จัดตั้งภายใต้กฎหมายไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 50% ของทุนที่ชำระแล้วในระยะ 5 ปีแรก หลังจากที่ได้รับอนุญาต
นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกรอบการรวมตัวภาคการเงินของอาเซียน โดยที่ประชุมคณะทำงานอาวุโสอาเซียน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลกระบวนการเร่งการเปิดเสรีในสาขาการธนาคารของอาเซียนได้จัดตั้ง Task Force of ASEAN Bangkok integration Framework (TF-ABIF)ขึ้นเพื่อจัดทำกรอบการรวมตัวภาคการธนาคารอาเซียน โดยมีเป้าหมายคือการจัดตั้ง QABs ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกอาเซียนตั้งแต่ 2 ประเทศขึ้นไปสามารถดำเนินการเจรจาและตกลงเปิดเสรีสาขาธนาคารพาณิชย์ของประเทศสมาชิกอาเซียนตั้งแต่ 2 ประเทศขึ้นไปสามารถเจรจาเปิดเสรีสาขาธนาคารพาณิชย์ของประเทศตนได้โดยสมัครใจ โดยแต่ละประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการเจรจาสามารถสรุปผลเจรจาและจัดทำข้อผูกพันในสาขาการธนาคารของตนได้เป็นรายปี
ทั้งนี้ การให้สิทธิพิเศษในสาขาการธนาคารให้การปฎิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่งแก่ประเทศสมาชิกอื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมการเจรจาจะต้องเป็นไปโดยความสมัครใจของประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมเจรจา โดยมีการกำหนดกรอบมาตรฐานและคุณสมบัติของQABs รวมถึง การกำกับดูแลรูปแบบและขอบเขตการประกอบธุรกิจไว้เบื้องต้น ซึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสามารถขยายขอบเขตการให้บริการไปสู่ประเทศอื่นๆได้ ในทางกลับกันก็เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคที่จะได้มีทางเลือในการใช้บริการมากขึ้น
เขากล่าวด้วยว่า การประชุมครั้งนี้ ยังได้มีการเปิดตัว "กองทุนการเงินสีเขียวของอาเซียน" ซึ่งอยู่ภายใต้กองทุนโครงสร้างพื้นฐานอาเซียน (ASEAN Infrastructure Fund: AIF) โดย กองทุนดังกล่าวถือเป็นช่องทางในการระดมทุนใหม่สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจะระดมทุนจากภาคเอกชนและสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนา มีการร่วมลงทุนจากภาคเอกชน รวมเป็นเงินกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบด้วย (1) ADB (2) German Development Bank (3) European Development Bank และ (4) Agence Française de Développement
นอกจากนี้ Overseas Private Investment Cooperation ได้แสดงความสนใจให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการที่เกิดขึ้นใหม่ และมีองค์กรอื่น ๆ อีกหลายแห่งที่พร้อมสนับสนุนการแบ่งปันองค์ความรู้ และการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการเงินสีเขียวผ่านกลไกดังกล่าว