ผู้ตรวจฯลุยสางปัญหาพาราควอต ขู่ระวังคุก-จับตาสัมปทานดิวตี้ฟรี
ผู้ตรวจการแผ่นดิน เตรียมถกปัญหาพาราควอต ขู่ประธานกก.วัตถุอันตราย-กรมวิชาการเกษตร ไม่มาเจอคุก เกาะติดปัญหาสัมปทานดิวตี้ฟรี หลัง ทอท. แหกข้อเสนอ ให้เอกชนรายเดียวแทนแข่งขัน 3 ราย เรียกชี้แจงภายในเดือนพ.ค.นี้ ลั่นดื้อแพ่งเจอร้อง ป.ป.ช.
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน - ในโอกาสครบรอบ 19 ปี สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน - พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินกล่าวถึงผลการปฏิบัติงานแก้ปัญหาประชาชน รวม 44,198 เรื่อง จากทั้งหมด 45,922 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 1,724 เรื่อง โดยหน่วยงานที่ถูกร้องเรียนลำดับต้นคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกรมการปกครอง ส่วนประเด็นที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด 3 อันดับแรก 1 การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ 3 ปัญหาเรื่องที่ดิน
สำหรับประเด็นปัญหา การควบคุมสารเคมีอันตรายพาราควอตที่ใช้ในการเกษตร ล่าสุดผู้ตรวจการแผ่นดินจะเชิญประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย อธิบดีกรมวิชาการเกษตร รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบของวัตถุอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมาหารือร่วมกัน ถึงศักยภาพขีดความสามารถ และปัญหาอุปสรรค ปลายเดือนเม.ย.นี้ หลังจากที่คณะกรรมการชุดดังกล่าว ยังไม่ได้ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ขอให้ยกเลิกการใช้สารอันตรายนี้ตั้งแต่ 1 ม.ค 63 เป็นต้นไป และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกประกาศเกี่ยวกับการจำกัดการใช้การถ่ายทอดความรู้ เกี่ยวกับวัตถุอันตรายพาราควอตแก่ประชาชนแล้วเร่งพัฒนา วิธีอื่นขึ้นมาทดแทน. ซึ่งในปัจจุบันนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายสมคิดจาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับการบริหารราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาเร่งดำเนินการ ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ในการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเป็นไปตามมาตรา 25 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน หากไม่มาจะมีโทษตามมาตรา 55 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อีกกรณีหนึ่งคือการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มราคาสูงกว่าปกติร้อยละ 40-50 ภายในสนามบินท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอให้ควบคุมอาหารและเครื่องดื่มไม่ให้เกินราคาเฉลี่ย เช่น ขายน้ำดื่มราคา 10 บาท และเพิ่มจุดจำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม มีราคาถูกสำหรับกรณีทอท. ออกประกาศคัดเลือกผู้ได้รับสิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ภายใน อาคารผู้โดยสาร สุวรรณภูมิและประกาศคัดเลือกผู้ได้รับสิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรหรือ duty free ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ โดยมีการให้สิทธิ์ ผู้บริหารจัดการในแต่ละประกาศเพียงรายเดียว ซึ่งขัดต่อข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ให้ดำเนินการไม่น้อยกว่า 3 ราย โดยผู้จัดการแผ่นดินกำลังเร่งติดตามผลชี้แจงจากทอท.
พร้อมกำหนดการประชุมร่วมกับทอท.และกระทรวงคมนาคม รวมถึงกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้น เพื่อสอบถามถึงเหตุผลที่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินได้ภายในเดือนพ.ค.นี้ แต่ถ้าหารือกันแล้วยังไม่ปฏิบัติตามอีก ก็จะถือว่าหัวหน้าหน่วยงานมีเจตนาไม่ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งตามกฎหมายให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินส่งรายงานไปยัง ป.ป.ช. โดยป.ป.ช.ต้องยึดสำนวนการสอบสวนของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นหลัก กรณีมีพฤติกรรมจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ทำให้ราชการเกิดความเสียหาย ซึ่งสามารถผิดได้ทั้งทางวินัยและอาญา
นอกจากนี้ ยังมีกรณีการป้องกันปัญหาการพิการในเด็ก ที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีข้อเสนอแนะให้องค์การเภสัชกรรมผลิตวิตามิน folic Acid ขนาด 400 ไมโครกรัมหรือ 0.4 มิลลิกรัม ซึ่งจะมีการผลิตภายในเดือนพฤษภาคม ปี 2563 สอดคล้องกับข้อสนับสนุนขององค์การอนามัยโลกอีกทั้งการแก้ไขปัญหาอัตราค่าไฟบนเกาะปันหยีที่มีอัตราสูงกว่าปกติหลายเท่าขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการขยายเขตตั้งระบบไฟฟ้าไปยังเกาะปันหยีแล้วเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาซึ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกำลังออกแบบสำรวจและประกวดราคาเพื่อจัดจ้างผู้ดำเนินการก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำระบบ จ่ายไฟฟ้าบนเกาะปันหยีให้ได้ภายในเดือนกันยายนนี้คาดว่าโครงการจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2564 และยังแก้ไขปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อสาธารณะ ในเรื่องของกรมศิลปากรที่กำหนดเขตพื้นที่โบราณสถานเมืองพิมายทับซ้อนที่ดินชุมชนอำเภอพิมายกว่า 2600 ไร่
ซึ่งขณะนี้จังหวัด นครราชสีมาได้เร่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาและกรม ศิลปากรได้เร่งจัดทำแผนการจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นประชาชนใหม่อีกครั้งทั้งนี้ปัญหาการร้องเรียนของประชาชนและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีต่อภาครัฐ เสมือนเสียงสะท้อน ถึงการดำเนินการของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งเจตนาในการแก้ปัญหาของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้เป็นการมุ่งจับผิดหน่วยงานของรัฐแต่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาความบกพร่องว่าเกิดจากสาเหตุอะไรและมีทางออกหรือร่วมกันแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อให้การแก้ไขปัญหาประชาชนเกิดประสิทธิภาพและเป็นจริงมากขึ้น