'เอเชีย' ผงาดตลาดโตเร็วสุด 'อัลฟาเบท'
“อัลฟาเบท” เผย เอเชียกลายเป็นตลาดที่มีการเติบโตเร็วที่สุดของบริษัทในปัจจุบัน ขณะที่รายได้รวมของยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีรายนี้ชะลอตัวที่สุดในรอบ 4 ปี
อัลฟาเบท บริษัทแม่ของกูเกิล รายงานเมื่อวันจันทร์ (29 เม.ย.) ตามเวลาท้องถิ่นว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดที่มีการเติบโตด้านรายได้รวดเร็วที่สุดสำหรับบริษัทในขณะนี้ แซงหน้าตลาดอื่น ๆ ทั่วโลก โดยมีรายได้เติบโตเกือบ 30% เทียบกับปีที่แล้ว
“เอเชียแปซิฟิกยังคงเป็นภูมิภาคที่มีความแข็งแกร่งมาก” นางรูธ โพรัต ประธานคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) ของอัลฟาเบทและกูเกิล กล่าวในงานแถลงผลประกอบการ “เรารู้สึกตื่นเต้นมากเกี่ยวกับโอกาสต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้เมื่อมองภาพรวมทั้งหมด”
ขณะที่ราคาหุ้นของอัลฟาเบทร่วง 7.5% หลังเปิดการซื้อขายในวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น นับเป็นการดิ่งหนักที่สุดในวันเดียวนับตั้งแต่ร่วง 8% ในเดือนต.ค. 2555 ก่อนจะปิดการซื้อขายวันจันทร์ด้วยราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,296.20 ดอลลาร์ต่อหุ้น
อย่างไรก็ตาม ข่าวดีจากเอเชียสวนทางกับภาวะชะลอตัวในตลาดขนาดใหญ่ที่สุดของอัลฟาเบทอย่างสหรัฐและยุโรป และแรงกดดันจากบรรดาคู่แข่งในธุรกิจโฆษณา
เอเชียแปซิฟิกสร้างรายได้ 6,100 ล้านดอลลาร์ให้อัลฟาเบทในไตรมาสแรก เพิ่มขึ้น 27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 16.8% ของรายได้รวม 3.63 หมื่นล้านดอลลาร์ของบริษัท ขณะที่รายได้จากสหรัฐและยุโรปเติบโต 17% และ 13% ตามลำดับ หลังจากที่ทั้ง 2 ภูมิภาคเคยเติบโตกว่า 20% ในช่วงไม่กี่ไตรมาสล่าสุด
อัลฟาเบทรายงานว่า รายได้โฆษณาในไตรมาสแรกอยู่ที่ 3.02 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 15% จากปีที่แล้ว ชะลอตัวลงจากที่เคยเติบโต 24% ในไตรมาสเดียวกันของปี 2561 นับเป็นการเติบโตชะลอตัวที่สุดในธุรกิจโฆษณานับตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2558
อัลฟาเบทเผยว่า “กูเกิล เพลย์” และ “ยูทูบ มิวสิค” 2 บริการชื่อดังของบริษัทได้รับประโยชน์อย่างมากจากตลาดเอเชียแปซิฟิก ตัวอย่างเช่น อินเดียกลายเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดสำหรับยูทูบ มิวสิค นับตั้งแต่เปิดบริการในประเทศเมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา
แม้เอเชียมีการเติบโตที่แข็งแกร่ง แต่รายได้รวมของอัลฟาเบทในภูมิภาคนี้ยังต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์อยู่ราว 1,000 ล้านดอลลาร์
นอกจากนั้น อัลฟาเบทยังเผชิญกับความไม่แน่นอนต่าง ๆ ในเอเชีย เมื่อไม่นานนี้ กูเกิลได้สับเปลี่ยนตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในภูมิภาค และขณะนี้ยังไม่มีการแต่งตั้งตำแหน่งที่ว่างอยู่ใน 2 ตลาดเอเชียใหญ่ที่สุดของบริษัทอย่างจีนและอินเดีย
เมื่อต้นเดือนเม.ย. นายราจัน อนันดาน รองประธานฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดียของกูเกิล ประกาศลาออกจากตำแหน่งหลังอยู่กับบริษัทนาน 8 ปี และยังไม่มีการแต่งตั้งคนใหม่เข้ามาแทนจนถึงปัจจุบัน