'ซีพี' ร้องศาลปมตัดสิทธิ์อู่ตะเภา
กลุ่มซีพี ร้องศาลปกครองขอความเป็นธรรม ถูกตัดสิทธิ์ชิงลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา-เมืองการบิน 2.9 แสนล้านบาท ยืนยันเคารพกติกาการประมูล
ผบ.ทร.นัดประชุมสรุปผลซอง 1 คุณสมบัติผู้ประมูลวันนี้ เผยเอกชน 3 ราย เสนอผู้บริหารสนามบินระดับโลก ญี่ปุ่น–อินเดีย-ฝรั่งเศส มั่นใจได้ตัวผู้ชนะ มิ.ย.นี้
คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่มี พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการกองทัพเรือ เป็นประธานได้เปิดซอง 1 (คุณสมบัติทั่วไป) ของเอกชน 3 กลุ่มที่ยื่นข้อเสนอโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา และจะประกาศผลผู้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาในวันนี้ (2 พ.ค.)
รายงานข่าวจากกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของผู้ยื่นซองประมูลโครงการดังกล่าว ระบุว่า ได้ยื่นศาลปกครองกรณีไม่เห็นพ้องด้วยกับมติและคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้แจ้งมติจากที่ประชุม และคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชน มายังตัวแทนผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งมีข้อมูลที่อาจส่งผลกระทบต่อโครงการ (ไม่สามารถเปิดเผยได้เนื่องจากข้อกำหนดโครงการฯ ให้กระบวนการคัดเลือกเอกชนต้องเป็นความลับ)
ร้องศาลขอความเป็นธรรม
ดังนั้น กลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร ประกอบด้วย 1.บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด 2.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) 4.บี.กริม จอยน์ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และ 5.Orient Success International Limited ได้พิจารณาด้วยความรอบคอบเพื่อรักษาไว้ซึ่งความถูกต้องของกระบวนการพิจารณา จึงได้ใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับมติและคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ดังกล่าว
นอกจากนี้ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ยังคงมุ่งมั่นในการเข้าร่วมประมูลและเคารพในกฎระเบียบ กติกาและขั้นตอนที่ถูกต้อง โปร่งใส เพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สูงสุดของประเทศ
“ซีพี”ยื่นซอง2-3ล่าช้า9นาที
รายงานข่าวจากกองทัพเรือ (ทร.) ระบุว่า กลุ่มซีพียื่นเรื่องต่อศาลปกครองเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และขณะนี้กองทัพเรือกำลังพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการยื่นคำร้องศาลปกครองดังกล่าว โดยการยื่นซองประมูลเมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา กำหนดให้ต้องยื่นเอกสารภายในเวลา 15.00 น. โดยกลุ่มซีพียื่นเอกสารซอง 1 (คุณสมบัติทั่วไป) ในเวลากำหนด แต่มีเอกสาร 2 ส่วน ที่ยื่นเพิ่มเติมหลังครบกำหนดเวลาไปแล้ว คือ 1.เอกสารซอง 2 (ข้อเสนอทางเทคนิคและแผนการลงทุน)
2.เอกสารซอง 3 (ข้อเสนอผลตอบแทนรัฐ) ซึ่งทำให้ประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ นำเรื่องนี้มาพิจารณาประกอบเอกสารเชิญชวนการคัดเลือกเอกชนอย่างละเอียด
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ใช้เวลาในการตรวจสอบซอง 1 ค่อนข้างนาน เนื่องจากข้อมูลที่เอกชนแต่ละรายส่งมานั้นมีจำนวนมาก อีกทั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ต้องตรวจสอบข้อมูลของเอกชนทุกรายที่เข้ามามีส่วนร่วมทั้งนำกลุ่ม (ลีดเฟิร์ม) และพันธมิตรของทั้ง 3 กลุ่ม
“บีบีเอส”ดึงญี่ปุ่นบริหารสนามบิน
นอกจากนี้ ในการยื่นซองดังกล่าวเอกชนแต่ละกลุ่มได้แจ้งข้อมูลผู้รับบริหารสนามบินในลักษณะซับคอนแทรคแล้วทั้ง 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มซีพี เสนอบริษัท Fraport AG Frankfurt Airport Services Worldwide ผู้บริหารสนามบินจากเยอรมนี มาเป็นผู้รับจ้างบริหารสนามบิน
2.กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เสนอกลุ่มผู้บริหารสนามบินนาริตะ มาบริหารสนามบินอู่ตะเภา
3.กลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เตียม ประกอบด้วยบริษัทแกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (กลุ่มบริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค) บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด และบริษัทคริสเตียนีและนีลเส็น จำกัด (มหาชน) ได้เสนอ “GMR Group” มาเป็นผู้บริหารสนามบิน ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการท่าอากาศยานเอกชนรายใหญ่สุดของอินเดีย อาทิ สนามบินไฮเดอราบัด และสนามบินเดลี มาเป็นผู้บริหารสนามบิน
สำหรับการเสนอรายชื่อพันธมิตรที่จะมาเป็นผู้บริหารสนามบินดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ซื้อซองประมูล
เล็งเปิดซอง 2 ข้อเสนอเทคนิค
นอกจากนี้ หลังการประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติซอง 1 ในวันนี้ (2 พ.ค.) คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ จะเปิดพิจารณาซอง 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ) รวมไปถึงเปิดซอง 3 (ข้อเสนอผลตอบแทนรัฐ)
สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอซอง 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ) กำหนดให้มีรายละเอียดภายในซองแบ่งเป็น 2 หมวด คือ 1.ข้อเสนอด้านเทคนิค ประกอบด้วย ข้อเสนอการทบทวนแบบแผนแม่บทสนามบิน ข้อเสนอการออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ของโครงการ ข้อเสนอแผนการดำเนินโครงการ และข้อเสนอแผนการดำเนินงานและบำรุงรักษา
2.ข้อเสนอด้านแผนธุรกิจ ประกอบด้วย ข้อเสนอสำหรับการประเมินความสามารถในการจัดหาเงินทุน ข้อเสนอด้านกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์ ข้อเสนอเกี่ยวกับประสบการณ์และศักยภาพของผู้ยื่นข้อเสนอ แผนโครงสร้างองค์กรและบุคลากร และข้อเสนอแผนการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี
ขีดเส้นซอง 3 จบใน 31 พ.ค.นี้
ขณะที่ซอง 3 (ข้อเสนอด้านผลตอบแทนรัฐ) มีกำหนดได้ข้อสรุปในวันที่ 31 พ.ค.นี้ โดยจะต้องมีรายละเอียด แบบจำลองทางการเงิน และข้อเสนอผลตอบแทนที่ให้แก่รัฐ ประกอบด้วย ตัวเลขร้อยละส่วนแบ่งรายได้ (ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5) และจำนวนเงินขั้นต่ำของส่วนแบ่งรายได้ในแต่ละปี ทั้งนี้ หากข้อเสนอของเอกชนรายใดมีการระบุเป็นเงื่อนไข แม้จะมีประโยชน์ตอบแทนสูงสุด ก็จะไม่มีการพิจารณาข้อเสนอนั้น หากเปิดซอง 3 เสร็จแล้ว ผู้ผ่านการคัดเลือกก็จะเข้าสู่การเจรจา
ส่วนสุดท้ายซองที่ 4 ข้อเสนอเพิ่มเติมที่ไม่เกี่ยวกับการประเมิน ส่วนนี้คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการฯ จะเปิดมาเจรจาหรือไม่ก็ได้ และหากการเจรจากับรายที่ 1 ไม่บรรลุข้อตกลง ก็สงวนสิทธิ์คณะกรรมการจะเรียกรายที่ 2 มาเจรจาหรือไม่ก็ได้
รวมทั้ง กองทัพเรือคาดว่าจะส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเสร็จได้ภายในวันที่ 14 มิ.ย.2562 หลังจากนั้นจะเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในกำหนดในเดือน มิ.ย.2562
ผู้ชนะรับสิทธิสัมปทาน50ปี
สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก มีมูลค่าการร่วมลงทุนโครงการ 2.9 แสนล้านบาท โดยมีรูปแบบการลงทุนจะเป็นแบบเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) ซึ่งรัฐจะลงทุน 6% ในส่วนของงานโยธา รันเวย์ที่ 2 และหอบังคับการบินหลังที่ 2
ส่วนเอกชนลงทุน 94% ในส่วนของงานอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ พื้นที่เขตประกอบการค้าเสรีและเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่องในสนามบินอู่ตะเภา ศูนย์ธุรกิจการค้า (Commercial Gateway) เป็นต้น โดยกองทัพเรือในฐานะเจ้าของพื้นที่โครงการได้ให้ระยะเวลาเอกชนดำเนินการและใช้ประโยชน์พื้นที่โครงการได้เป็นระยะเวลา 50 ปี