สหรัฐปิดดีลขีปนาวุธพันล้านดอลล์ใน 3 เดือน
กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์เผย สหรัฐเซ็นสัญญาผลิตขีปนาวุธมูลค่ากว่าพันล้านดอลลาร์ในเวลาเพียง 3 เดือน หลังประกาศถอนตัวจากสนธิสัญญานิวเคลียร์ที่ทำกับรัสเซียช่วงสงครามเย็น
รายงานซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ (ไอแคน) และกลุ่มต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ “แพ็กซ์” (PAX) ระบุวันนี้ (2 พ.ค.) ว่า รัฐบาลสหรัฐได้เซ็นสัญญากับบริษัทด้านกลาโหม 6 ราย เพื่อสั่งผลิตขีปนาวุธเป็นวงเงินไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 3 เดือน นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ ประกาศเจตนารมณ์ถอนตัวออกจากสนธิสัญญากองกำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง (ไอเอ็นเอฟ) เมื่อเดือนต.ค. 2561
ในจำนวนนี้รวมถึงสัญญากับบริษัทเรย์เธียน 44 ฉบับ รวมมูลค่า 537 ล้านดอลลาร์ บริษัทล็อกฮีดมาร์ติน 36 ฉบับ มูลค่า 268 ล้านดอลลาร์ และบริษัทโบอิง 4 ฉบับ มูลค่า 245 ล้านดอลลาร์
นายเบียทริซ ฟิห์น ประธานไอแคน ระบุในรายงานว่า การที่สหรัฐถอนตัวออกจากสนธิสัญญาไอเอ็นเอฟ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็นครั้งใหม่ พร้อมเรียกร้องให้สภาคองเกรสตรวจสอบพฤติกรรมการล็อบบี้ของโบอิง ล็อกฮีดมาร์ติน และเรย์เธียน ซึ่งเป็น 3 บริษัทที่ได้สัญญาผลิตขีปนาวุธให้สหรัฐได้มากที่สุด
เมื่อเดือนต.ค. ปีที่แล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศว่า จะนำสหรัฐถอนตัวออกจากสนธิสัญญาไอเอ็นเอฟซึ่งเป็นความตกลงระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียตเมื่อปี 2530
รัฐบาลวอชิงตันกล่าวหาว่า รัสเซียเป็นฝ่ายละเมิดสัญญาก่อนด้วยการผลิตและใช้งานขีปนาวุธรุ่นใหม่ และเริ่มกระบวนการฉีกสัญญาเมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมา โดยจะใช้เวลาดำเนินการ 6 เดือน
ด้านประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียออกมาประกาศตอบโต้ว่า จะถอนตัวออกจากสนธิสัญญาไอเอ็นเอฟด้วยเช่นกัน
คณะผู้เขียนรายงาน ยอมรับว่า ยังไม่ทราบข้อมูลแน่ชัดว่าสัญญาใหม่ ๆ ที่ทำขึ้นระหว่างวันที่ 22 ต.ค. ปีที่แล้วจนถึง 21 ม.ค. ปีนี้ เป็นคำสั่งผลิตอาวุธนิวเคลียร์ด้วยหรือไม่ “สิ่งที่ชัดเจนคือ สหรัฐกำลังเร่งรีบผลิตขีปนาวุธเพิ่ม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทอเมริกันแค่ไม่กี่แห่ง และมีเจตนาป้อนขีปนาวุธเข้าสู่ท้องตลาดโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องพิสัยการยิง”
รายงานยังพบว่า รัฐบาลทั่วโลกได้ทำสัญญากับบริษัทเอกชนในฝรั่งเศส อินเดีย อิตาลี เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และสหรัฐ เพื่อสั่งผลิต พัฒนา หรือสะสมอาวุธนิวเคลียร์เป็นมูลค่าอย่างน้อย 1.16 แสนล้านดอลลาร์
คณะผู้เขียนรายงานย้ำว่า ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธให้จีน อิสราเอล เกาหลีเหนือ ปากีสถาน และรัสเซีย ยังคงปกปิดกิจกรรมของตนอย่างมิดชิด และแทบไม่มีข้อมูลว่าบริษัทไหนได้รับคำสั่งผลิตอาวุธชนิดใดเป็นมูลค่าเท่าไหร่