อินโดฯตั้งเป้านั่งแท่น‘ฮับการผลิต’แห่งอาเซียน

อินโดฯตั้งเป้านั่งแท่น‘ฮับการผลิต’แห่งอาเซียน

อินโดนีเซียมีแผนเปิดเสรีภาคอุตสาหกรรมเพิ่มเติมรับนักลงทุนต่างชาติ หวังผงาดเป็นฮับการผลิตระดับภูมิภาคและเป็นคู่แข่งกับเกาหลีใต้และเยอรมนี

นายไอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย ให้สัมภาษณ์ในกรุงจาการ์ตาเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า รัฐบาลมีแผนที่จะเปิดเสรีภาคอุตสาหกรรมในประเทศมากขึ้นเพื่อรองรับบรรดานักลงทุนต่างชาติ และผ่อนคลายกฎหมายแรงงานที่เข้มงวดของประเทศ หวังเป็นยักษ์ใหญ่การผลิตระดับภูมิภาคแข่งขันกับเยอรมนีและเกาหลีใต้

"รัฐบาลของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด จะพึ่งพาอุตสาหกรรมยานยนต์ เคมีภัณฑ์ และอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อผลักดันให้ภาคการผลิตสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเป็น 25% ภายในปี 2568 จาก 20% ในปัจจุบัน" นายฮาร์ตาร์โตกล่าว

ความเคลื่อนไหวนี้อาจช่วยกระตุ้นการส่งออกจากอินโดนีเซีย ซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแก้ปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้

“เป้าหมายของเราคือการเป็นฮับการผลิตแห่งอาเซียน” รัฐมนตรีอุตสาหกรรมเผย และบอกว่า อินโดนีเซียจะหาทางแซงหน้าเยอรมนีและเกาหลีใต้ และเทียบชั้นกับจีน ในฐานะฐานผลิตสินค้าทุกประเภทตั้งแต่รถพลังงานไฟฟ้าไปจนถึงปิโตรเคมีภัณฑ์

นายวิโดโด ซึ่งเตรียมบริหารประเทศสมัยที่ 2 กำลังหาทางฟื้นภาคการผลิตที่กำลังดิ้นรนหนักของประเทศเพื่อกระตุ้นการเติบโต แก้ปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และสร้างงานหลายล้านตำแหน่งให้กับประชาชน

อินโดนีเซีย เติบโตในอัตราราว 5% ต่อปี ต่ำกว่าเป้าหมายของประธานาธิบดีวิโดโดที่ตั้งไว้ที่ 7% เนื่องจากประเทศพึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์มานานหลายปี

นายฮาร์ตาร์โต เผยว่า แผนนำร่องของรัฐบาลอินโดนีเซียในการกระตุ้นภาคการผลิตจะรวมไปถึงการผ่อนคลายกฎระเบียบว่าด้วยเงื่อนไขในการลงทุนสาหรับชาวต่างชาติ ซึ่งกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในอุตสาหกรรมหลายร้อยประเภท การยกเว้นภาษีสำหรับบริษัทภายในประเทศและต่างชาติ และการปฏิรูปกฎหมายแรงงาน

“ประธานาธิบดีวิโดโด หรือที่รู้จักในชื่อ โจโกวี มีความชอบธรรมและเสียงสนับสนุนทางการเมืองในการแก้ปัญหาอ่อนไหวต่าง ๆ เช่น กฎหมายแรงงาน ปัจจัยสำคัญที่ขัดขวางนักลงทุนต่างชาติในการเข้ามาลงทุนในประเทศ”

รัฐมนตรีรายนี้เสริมว่า ในขณะที่ทั่วโลกหันมาใช้รถพลังงานไฟฟ้ากันมากขึ้น อินโดนีเซียจึงต้องการให้รถที่ใช้แบตเตอรี่มีสัดส่วนเพิ่มเป็น 20% ของผลผลิตรวมทั้งประเทศภายในปี 2568

“รัฐบาลได้เตรียมแนวทางปฏิบัติที่จะครอบคลุมถึงผู้ผลิตรถในปัจจุบันอย่าง โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป และมิตซูบิชิ มอเตอร์ คอร์ป เช่นเดียวกับผู้ผลิตรถพลังไฟฟ้าของจีนอย่าง บีวายดี โค และอู่หลิง มอเตอร์ โฮลดิ้งส์” นายฮาร์ตาร์โตเผย และว่า “ผู้เล่นบางรายทำโครงการนำร่องในอินโดนีเซียอยู่แล้ว เช่น มิตซูบิชิ โตโยต้า และฮอนด้า”