4 รพ.เตรียมยืน ขอสิทธิปลูกกัญชา
อย.เผยรพ.ชุมชน 3-4 แห่งเตรียมยื่นขอปลูกกัญชา จับมือวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ปลูกป้อนรพ.ใช้ประโยชน์ในชุมชน ย้ำปัจจุบันอนุญาตปลูกเพียง 3 แห่ง อภ.-ม.รังสิต-กรมการแพทย์แผนไทยฯเท่านั้น
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า การขออนุญาตเพื่อปลูกและผลิตกัญชานั้น ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าภายในระยะเวลา 5 ปี จะต้องดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐหรือร่วมกับหน่วยงานรัฐเท่านั้น และจะต้องยื่นขออนุญาตต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษก่อนจึงจะสามารถปลูกได้ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชาถูกกำหมายเพียง 3 แห่งเท่านั้น คือ องค์การเภสัชกรรม(อภ.) มหาวิทยาลัยรังสิตที่เป็นการปลูกเชิงวิจัยไม่ใช่การผลิต และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเท่านั้น
“หากเป็นวิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มสหกรณ์ต้องการที่จะขออนุญาตจะต้องร่วมมือกับหน่วยงานรัฐให้เป็นผู้ขออนุญาตในการปลูก ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดยื่นเรื่องเพื่อขออนุญาตในการปลูกกัญชาเพิ่มเติมมาที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)มีแต่เข้ามาสอบถามรายละเอียดในการยื่นขออนุญาตไม่น้อยกว่า 5 ราย และที่ทราบอีกคือมีโรงพยาบาลชุมชนราว 3-4 แห่งจับมือร่วมกับวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ เพื่อที่จะยื่นขออนุญาตในการปลูกกัญชา ซึ่งจะเป็นการปลูกให้กับรพ.นั้นๆนำไปใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้ป่วยในชุมชน”นพ.สุรโชคกล่าว
นพ.สุรโชค กล่าวอีกว่า ขั้นตอนในการพิจารณาการอนุญาตในการปลูกกัญชานั้น เมื่อเสนอเรื่องต่ออย.แล้วจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ซึ่งจะมีการประชุมทุกเดือน เพราะฉะนั้น ผู้ยื่นขออนุญาตจะทราบผลการพิจารณาภายในระยะเวลา 1 เดือน หากยื่นก่อนวันที่คณะกรรมการฯจะประชุมในแต่ละเดือน อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก(ร่าง) กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา พ.ศ. ...ยังไม่มีผลบังคับใช้ ระหว่างนี้จึงใช้แนวทางการพิจารณาอนุญาตให้ปลูกกัญชา พ.ศ.2562 ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษแล้วเมื่อวันที่ 22ก.พ.2562
สำหรับแนวทางการพิจารณาอนุญาตให้ปลูกกัญชา พ.ศ.2562 ระบุว่าการพิจารณาอนุญาตให้ปลูกกัญชาเพื่อรองรับการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และ การศึกษาวิจัยทางการแพทย์ในประเทศคือกรณีผู้ขอรับอนุญาตรายใหม่ พิจารณาใน 6 ประเด็น ได้แก่ 1. สถานที่เพาะปลูก ต้องได้รับการตรวจสอบจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ2. ปริมาณการปลูก 3.ประวัติการถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษของผู้ขอรับอนุญาต 4.มาตรการรักษาความปลอดภัย เพื่อป้องกันการรั่วไหลของกัญชา 5. รายละเอียดการดำเนินการ แบ่งเป็นกรณีปลูกเพื่อประโยชน์ของทางราชการการแพทย์และกรณีปลูกเพื่อศึกษาวิจัย และ6.ข้อมูลทั่วไปของผู้ขอรับอนุญาต