ศาลรธน.ถกยกแรก ปม 'ธนาธร' ขาดคุณสมบัติส.ส. 23 พ.ค.นี้
"ศาลรัฐธรรมนูญ" เตรียมพิจารณาคำร้องของกกต.ปม "ธนาธร" ขาดคุณสมบัติสมัครส.ส. ว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ 23 พ.ค.นี้
เมื่อวันที่ 20 พ.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 23 พ.ค.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญ เตรียมพิจารณาคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพส.ส.ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ห้วหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรณีถือหุ้นสื่อ อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. ซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6 )ประกอบมาตรา 98 (3)
ก่อนหน้านี้ กกต.มีมติเป็นมติเอกฉันท์โดยเห็นว่า จากพยานหลักฐาน บริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด เป็นบริษัท ที่ระบุวัตถุประสงค์ในการยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ว่า ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากงบการเงินของบริษัทฯ พบว่ามีรายได้จากการขายนิตยสาร ให้บริการโฆษณา ซึ่งถือเป็นการประกอบธุรกิจสื่อสารมวลชน และยังคงประกอบกิจการอยู่ ไม่มีการจดทะเบียนยกเลิกบริษัทหรือเสร็จการชำระบัญชีแต่อย่างใด
ขณะที่สำเนาบัญชีผู้ถือหุ้นหรือ บอจ. 5 ที่กกต.ได้รับจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก็ยังปรากฏชื่อนายธนาธร เป็นผู้ถือหุ้นตั้งแต่ปี 2558 จนถึงวันที่ 21 มี.ค. 62 ดังนั้นเมื่อกกต. ประกาศเปิดสมัครรับเลือกตั้งส.ส.วันที่ 4-8 ก.พ. จึงเท่ากับว่าขณะที่นายธนาธร ยื่นใบสมัครลงรับเลือกตั้ง นายธนาธร ยังถือหุ้น บริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัดอยู่ จึงเข้าข่ายขาดคุณสมบัติเนื่องจากเป็นบุคคลที่ห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) และ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 42(3)
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสองยังกำหนดว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว หากปรากฎเหตุอันควรสงสัยว่า ส.ส.ซึ่งถูกร้อง มีกรณีตามที่ถูกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ให้ส.ส. ซึ่งถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้วให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยนั้นไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของส.ส.ผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ให้ถือว่าผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ จะเป็นการพิจารณาว่าจะรับคำร้องของ กกต.ไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ ถ้าศาลมีมติรับคำร้องไว้พิจารณา ก็จะส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้อง และนัดพิจารณาคดีครั้งแรก หลังจากนั้นราวต้นเดือนมิ.ย. ผู้ถูกร้องจะต้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ภายใน 15 วันนับแต่ได้รับสำเนาคำร้อง โดยภายในเดือนมิ.ย. ศาลพิจารณาคดีครั้งแรก กำหนดประเด็น ลำดับขั้นตอนการพิจารณา นัดไต่สวน และนัดฟังคำวินิจฉัย
สำหรับการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญใช้ระบบไต่สวน โดยคณะผู้พิจารณาคดี ต้องมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ต่ำกว่า 7 คนขึ้นไป