ครม.ไฟเขียวงบ 6.6 หมื่นล้าน พัฒนารถไฟทางคู่สายใหม่ บ้านไผ่–นครพนม
ครม.ไฟเขียวงบ 6.6 หมื่นล้าน พัฒนารถไฟทางคู่สายใหม่ บ้านไผ่ – นครพนม รฟท.เร่งจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินจ่อเวนคืน 7.1 พันแปลง ปักธงเปิดประมูลปีหน้า ก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดใช้ปี 2567
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (28 พ.ค.) โดยระบุว่า ครม.มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่ - มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด - มุกดาหาร - นครพนม ในวงเงิน 66,848.33 ล้านบาท ด้วยวิธีประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยหลังจากนี้ รฟท.จะลงสำรวจพื้นที่ พร้อมจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อทำการเวนคืน
เบื้องต้นประเมินว่าจะต้องเวนคืนพื้นที่กว่า 7.1 พันแปลงเพื่อนำมาพัฒนาโครงการ โดยมีกรอบเวลาดำเนินงาน คือ เริ่มขั้นตอนประกวดราคาจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างภายในปี 2563 หลังจากนั้นจะเริ่มต้นก่อสร้างทันที ใช้เวลาก่อสร้างราว 4 ปีแล้วเสร็จ เพื่อเปิดให้บริการในช่วงปี 2567 หรืออย่างช้าไม่เกินต้นปี 2568
สำหรับลักษณะของโครงการจะดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ จำนวน 2 ทาง เป็นคันทางระดับดิน และบางส่วนเป็นทางรถไฟยกระดับ ระยะทางประมาณ 355 กิโลเมตร (กม.) ผ่านพื้นที่ทั้งหมด 70 ตำบล 16 อำเภอ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และนครพนม โดยมีการก่อสร้างสถานีรถไฟใหม่ จำนวน 30 สถานี 1 ชุมทาง ลานบรรทุกตู้สินค้า 3 แห่ง และย่านกองตู้สินค้า 3 แห่ง มีโรงซ่อมบำรุงบริเวณสถานีภูเหล็ก (จังหวัดขอนแก่น) สำหรับซ่อมวาระเบาและซ่อมวาระปานกลาง ส่วนวาระหนักจะส่งไปซ่อมที่โรงรถจักรอุตรดิตถ์
รวมทั้งมีการออกแบบถนนยกข้ามทางรถไฟ (Overpass) จำนวน 81 แห่ง มีถนนลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) จำนวน 245 แห่ง พร้อมการก่อสร้างรั้วสองข้างทางตลอดแนวเส้นทางรถไฟ ความกว้างของราง ขนาด 1 เมตร สามารถเชื่อมต่อกับระบบรางเดิมของ รฟท. ที่มีอยู่ รวมไปถึงเชื่อมสู่พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รองรับการเดินรถขนาดความเร็วสูงสุดที่ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทางรถไฟเป็นแบบใช้หินโรยทางทั้งทางระดับพื้นดิน สะพาน และโครงสร้างยกระดับที่เป็นคอนกรีต