เปิดผลสำรวจระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยปี 2561
เปิดผลสำรวจระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทย แนะรัฐวางแนวทางพัฒนา 4 ด้าน มาตรการสนับสนุนการพัฒนาความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ศูนย์รวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะสูง เอกชนลั่นถึงเวลาสร้างสตาร์ทอัพคุณภาพ
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (Thailand Tech Startup Association – TTSA) เปิดเผยผลสำรวจระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นประเทศไทย ประจำปี 2561 (STARTUP ECOSYSTEM SURVEY: THAILAND 2018) ระบุปัจจัยสำคัญที่จะสามารถผลักดันสตาร์ทอัพสู่เวทีโลกได้ คือการสร้างให้เกิด Global partnership ของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทย ที่จะต้องมีหุ้นส่วนความร่วมมือในการประกอบธุรกิจ (Strategic Partnership) เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้ในระดับโลก ผ่านการทำงานร่วมกับนานาชาติได้อย่างไม่เสียเปรียบ
นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า การศึกษาสถานภาพการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนาระบบนิเวศน์วิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Ecosystem) ข้อมูลที่ได้รับนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในแง่ของการพิจารณานโยบาย และแนวทางการสนับสนุนต่าง ๆ รวมถึงการทราบสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและธุรกิจ และสามารถเป็นแนวทางในการส่งเสริมจุดแข็ง และแก้ไขปัญหา หรือจุดอ่อนที่พบผ่านการประเมินและพิจารณาจัดทำนโยบายของระบบนิเวศในแต่ละพื้นที่ที่มีการทำการศึกษาต่อไป ทั้งนี้ ในปี 2561 ได้จัดการเก็บข้อมูลครอบคลุมกิจการสตาร์ทอัพรวมทั้งสิ้น 215 กิจการ
จากการสำรวจลักษณะของสตาร์ทอัพในประเทศไทย พบว่า ช่วงธุรกิจที่สตาร์ทอัพอยู่มากที่สุดคือ ช่วง Seed round หรือได้รับเงินลงทุนจาก accelerator / angel investor คิดเป็นร้อยละ 45.58 รองลงมาคือ Series A หรือได้รับการลงทุนครั้งสำคัญจาก Venture capital เป็นครั้งแรก คิดเป็นร้อยละ 24.19 และ Pre-seed round หรือได้รับเงินลงทุนจากรัฐบาล ญาติพี่น้อง และบุคคลใกล้ชิด คิดเป็นร้อยละ 16.74 สำหรับประเภทอุตสาหกรรมของสตาร์ทอัพ พบว่า อุตสาหกรรมธุรกิจและเทคโนโลยีการบริการ (Business/Services Tech) มีสตาร์ทอัพมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 23.72 รองลงมาคือ ธุรกิจ E-Commerce คิดเป็นร้อยละ 10.70 และการศึกษา (EdTech) คิดเป็นร้อยละ 7.91 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมีอายุเฉลี่ยเมื่อเริ่มกิจการ 33 ปี แบ่งเป็น เพศชายร้อยละ 81.64 และเพศหญิงร้อยละ 18.36
ด้านการเข้าร่วมโครงการ และมาตรการส่งเสริมของภาครัฐ พบว่า สตาร์ทอัพ ร้อยละ 56.48 เคยเข้าร่วมโครงการหรือมาตรการส่งเสริมของภาครัฐ และร้อยละ 43.52 ระบุว่า ไม่เคยเข้าร่วมโครงการมาตรการส่งเสริมของภาครัฐ สำหรับสตาร์ทอัพที่เคยเข้าร่วมโครงการและมาตรการส่งเสริมของภาครัฐ พบว่า สตาร์ทอัพเคยเข้าร่วมโครงการ Startup Voucher ของ สวทช. มากที่สุด ร้อยละ 28.91 รองลงมา คือ โครงการคูปองนวัตกรรม ของ NIA คิดเป็นร้อยละ 23.44 และโครงการ TED Fund ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คิดเป็นร้อยละ 11.72 ทั้งนี้ ประโยชน์ที่สตาร์ทอัพได้รับจากการเข้าร่วมโครงการมาตรการส่งเสริมของภาครัฐมากที่สุด คือ เงินทุน คิดเป็นร้อยละ 53.33 รองลงมาคือ Network คิดเป็นร้อยละ 20.00 และ Branding คิดเป็นร้อยละ 11.28 ส่วนเหตุผลที่สตาร์อัพไม่เคยเข้าร่วมโครงการมาตรการส่งเสริมของภาครัฐมากที่สุด คือ ไม่ทราบข้อมูล คิดเป็นร้อยละ 27.68 ไม่สนใจหรือไม่มีเวลา ร้อยละ 26.47 และไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ (เช่น ไม่ผ่านการคัดเลือก) ร้อยละ 20.47
สำหรับผลการดำเนินงานของสตาร์ทอัพ ด้านรายได้ พบว่า สตาร์ทอัพที่สามารถสร้างรายได้ได้แล้วคิดเป็นร้อยละ 63.72 โดยร้อยละ 40 ของสตาร์อัพนั้นเริ่มสร้างรายได้หลังจากก่อตั้งธุรกิจ 6 เดือน โดยแหล่งรายได้ของธุรกิจสูงที่สุดคือ มาจากรายได้จากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ และในกลุ่มของสตาร์ทอัพที่สร้างรายได้ได้แล้วนั้น พบว่า ร้อยละ 59.12 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ได้รับจริงน้อยกว่าหรือเท่ากับ 500,000 บาท และ รองลงมาร้อยละ 17.52 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ระหว่าง 500,000 - 1,000,000 บาท โดยสัดส่วนรายได้สูงสุด 3 แหล่งมาจาก รายได้จากการจำหน่ายสินค้า ร้อยละ 50 รายได้จากค่าการตลาดหรือคอมมิชชั่น ร้อยละ 16 และรายได้จากค่าธรรมเนียมตัวกลาง ร้อยละ 11
ด้านการทำวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมนวัตกรรมขอบสตาร์ทอัพ พบว่า สตาร์ทอัพมีการใช้งบประมาณ โดยเฉลี่ยไม่มากกว่า 500,000 บาท/ปี ในการทำวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมนวัตกรรม โดยความร่วมมือในการทำวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมนวัตกรรมกับหน่วยงานของสตาร์ทอัพ พบว่า สตาร์ทอัพมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยรัฐมากที่สุด ร้อยละ 20.40 รองลงมา คือ บริษัทเอกชน ร้อยละ 19.80 และหน่วยงานภาครัฐทั่วไป ร้อยละ 13.37 โดยมีลักษณะความร่วมมือหลักของมหาวิทยาลัยรัฐ บริษัทเอกชน และหน่วยงานภาครัฐทั่วไป คือ การรับคำปรึกษา คำแนะนำ คิดเป็นร้อยละ 64.81, 67.86, และ 76.74 ตามลำดับ รองลงมาคือ การทำวิจัยร่วมกัน คำแนะนำ คิดเป็นร้อยละ 22.22, 17.86, และ 9.30 ตามลำดับ
สำหรับเทคโนโลยีสำคัญที่ใช้ในการดำเนินการในสตาร์ทอัพ พบว่า สตาร์ทอัพใช้เทคโนโลยี Software Application (SaaS) / Web Application ในการดำเนินการมากที่สุด ร้อยละ 64.22 ซึ่งแหล่งที่มาหลักของเทคโนโลยี Software Application (SaaS) / Web Application คือ ผู้ก่อตั้งเป็นผู้ค้นพบหรือสร้างเทคโนโลยีขึ้นเอง ร้อยละ 25.08 ส่วนเทคโนโลยีสำคัญที่ใช้ในการดำเนินการในสตาร์ทอัพรองลงมาคือ Artificial Intelligence (AI) / Machine Learning ร้อยละ 9.79 และ AR / VR ร้อยละ 5.20 ซึ่งแหล่งที่มาหลักของเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) / Machine Learning และ AR / VR คือ ค้นคว้าภายในกิจการ (in-house)
ด้านความต้องการให้ภาครัฐให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน พบว่า อันดับหนึ่งของสตาร์ทอัพต้องการให้ภาครัฐให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนการเพิ่มแหล่งเงินทุน การร่วมลงทุน รองลงมาคือ การแก้ไขกฎหมาย หลักเกณฑ์ ข้อบังคับ ในการประกอบธุรกิจ และการเพิ่มมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนทางภาษี ด้านความต้องการในการรับการสนับสนุนจากภาคเอกชน พบว่า ความต้องการอันดับหนึ่งของสตาร์ทอัพในการรับการสนับสนุนจากภาคเอกชน คือ การสร้างเครือข่าย รองลงมาคือ การให้ความช่วยเหลือ ให้ความรู้ด้านเทคโนโลยี และการอบรมสร้างความเข้าใจทางด้านธุรกิจ สำหรับเป้าหมายของการดำเนินสตาร์ทอัพ พบว่า สตาร์ทอัพร้อยละ 37.22 มีเป้าหมายการถือครองระยะยาว รองลงมาร้อยละ 29.44 คือ IPO และร้อยละ 13.89 การขายกิจการและเปลี่ยนบทบาทเป็นนักลงทุน
นายพณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (TTSA) เปิดเผยถึงข้อเสนอแนะการพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นสำหรับภาครัฐ (Public Sectors) ว่า ภาครัฐควรวางแนวทางในการพัฒนาสตาร์ทอัพใน 4 ด้านสำคัญ คือ 1. การประชาสัมพันธ์โครงการและมาตรการสนับสนุนสตาร์ทอัพของภาครัฐอย่างทั่วถึง
2. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้ก่อตั้ง (Founder) จะนำมาพิจารณาในการเลือกประเทศในการจัดตั้งสตาร์ทอัพ ซึ่งสิ่งที่ผู้ก่อตั้งพิจารณาเป็นหลักคือ ความสะดวกในการจัดตั้งและการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้รับจากการลงทุนในประเทศนั้นๆ ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการเป็นศูนย์กลางการลงทุนของวิสาหกิจเริ่มต้นในภูมิภาคเอเชีย ภาครัฐจำเป็นต้องส่งเสริม และช่วยเหลือให้การประกอบกิจการวิสาหกิจเริ่มต้นในประเทศนั้น เป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมาย นโยบาย และมาตรการต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ และดึงดูดผู้ก่อตั้งรวมถึงนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศ
นอกจากนี้ การดำเนินการเพื่อออกกฎหมาย นโยบาย และมาตรการดังกล่าวควรมีเป็นไปอย่างจริงจัง รวดเร็วและต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และเพื่อให้ภาคเอกชนเกิดความเชื่อมั่นในความตั้งใจและการให้ความสำคัญแก่วิสาหกิจเริ่มต้นของภาครัฐ โดยสิ่งที่ภาครัฐสามารถดำเนินการได้ เช่น การจัดตั้งศูนย์บริการ หรือหน่วยงานแบบ One-Stop-Service การแก้กฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุน (Investment) และการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี (Tax Reduction or Exemption) เป็นต้น
3. มีการรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง (Ecosystem Facilitation) เพื่อให้สตาร์ทอัพมีความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลและบริการของภาครัฐ (Single Point of Contact) และควรมีการจัดทำแหล่งความรู้กลาง Common Pool of Knowledge ที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจวิสาหกิจเริ่มต้น ที่มีอยู่กระจัดกระจายในปัจจุบันไว้ในที่เดียวกัน
และ 4. การสนับสนุนและพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะสูง (Talent & Workforce Enhancement) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่ม Developers และ Programmers ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้น เนื่องจากบุคลากรเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาธุรกิจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยปัจจุบันแม้ว่าประเทศไทยจะมีบุคลากรในกลุ่มนี้อยู่จำนวนหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถเทียบเคียงต่างประเทศได้ในแง่คุณภาพ และประสบการณ์ จึงทำให้บุคลากรเหล่านี้ยังเป็นที่ต้องการของวิสาหกิจเริ่มต้นไทย
ส่วนข้อเสนอแนะการพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นสำหรับภาคเอกชน (Private Sectors) หากวิเคราะห์จากผลสำรวจ ภาคเอกชนควรเข้ามามีบทบาทในแง่ต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่การเชื่อมต่อวิสาหกิจเริ่มต้นกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักลงทุน ผู้ที่มีโอกาสเป็นหุ้นส่วน หรือลูกค้า ผ่านการจัดตั้งเครือข่ายการพบปะกัน (Networking) เพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจจากบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างกว้างขวาง และมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ภาคเอกชนควรให้การสนับสนุนคำแนะนำ และคำปรึกษา (Mentorship) ไม่ว่าจะเป็น ด้านกฎหมาย ด้านข้อบังคับ ด้านการดำเนินธุรกิจ ด้านการวางแผน เป็นต้น รวมทั้งภาคเอกชนสามารถสนับสนุน หรือช่วยเหลือสตาร์ทอัพด้านการส่งเสริมภาพลักษณ์ และด้านการตลาด (Branding & Marketing) เนื่องจากภาคเอกชนหลาย ๆ หน่วยงานมีภาพลักษณ์และการตลาดที่เข้มแข็ง ซึ่งภาคเอกชนสามารถนำเอาจุดแข็งนี้มาเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้นให้เป็นที่รู้จักเพื่อกระตุ้นการตระหนักรู้ (Awareness) กับบุคคลที่สนใจวิสาหกิจเริ่มต้นหรือบุคคลทั่วไปให้เข้าถึง และเข้าใจวิสาหกิจเริ่มต้นของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
“ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเราประสบความสำเร็จในการสร้างการรับรู้ และดึงดูดคนเข้ามาในระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ ต่อจากนี้น่าจะถึงเวลาที่เราจะเริ่มพูดถึงคุณภาพ เช่น การกระจายความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และกระบวนการคิด ที่ไม่ใช่แค่เพียง ไอเดีย กับ พิชชิ่ง แต่รวมถึงการทำธุรกิจ สร้างวัฒนธรรม และ ทัศนคติ ที่เหมาะกับเศรษฐกิจแห่งอนาคตด้วย” นายพณชิต กล่าว
คลิกดูรายละเอียดได้ที่ www.sti.or.th/th/wp-content/uploads/2019/05/2018-TH-StartupTH.pdf