ต่อยอด EM เล็งใช้ดิจิตอลมาร์คจุดคุมประพฤติ
ยธ.เตรียมใช้ "ดิจิตอล" มาร์คจุดผู้ถูกคุมประพฤติ ให้อยู่ในสายตาตลอด 24 ชม. รองรับคดีคุมประพฤติ 3 แสนคดี ด้านศาลเผยสถิติสั่งติด EM กว่า7 พันราย หลบหนี238 ราย ตามจับได้แล้ว 59 ราย
เมื่อวันที่ 30 พ.ค.62 นายวิทยา สุริยะวงค์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวเปิดการสัมมนาวิชาการ เรื่อง มิติใหม่งานคุมประพฤติ: นวัตกรรมดิจิทัลในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด โดยระบุว่า ปัจจุบันกรมคุมประพฤติได้ปรับตัวตามเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจึงนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดในด้านต่างๆ ทั้งการใช้ฐานข้อมูล Big Data มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล การนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือ EM มาใช้กับผู้กระทำผิด การพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล และการตรวจพิสูจน์สารเสพติดในร่างกาย การใช้ Application Mobile และ Block Chain มาประยุกต์ใช้บริการประชาชน และยังช่วยให้พนักงานคุมประพฤติทำงานได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากแต่ละปีมีคดีเข้าสู่คุมประพฤติ 300,000 คดี ถือเป็นปริมาณมากเกินกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ 2,000 คน โดยในอนาคตการรายงานตัวของผู้ถูกคุมประพฤติจะใช้ดิจิตอลในการมาร์คจุดของผู้เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติ ซึ่งจะทำให้ผู้ถูกคุมประพฤติอยู่ในสายตาตลอดเวลาด้วย
ด้านนายปุณณพัฒน์ มหาลี้ตระกูล ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวว่า หลังจากมีการนำทดลองอุปกรณ์ EM มาใช้ในการปล่อยชั่วคราวในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกสูงเกิน 10 ปี พบว่านอกจากจะทำให้ลดความเหลื่อมล้ำแล้วยังทำให้คนยากจนได้รับการปล่อยตัวได้เท่าเทียมกัน ที่ผ่านมา ศาลได้มีคำสั่งใช้อุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว 7,336 ครั้งโดยใช้มากที่สุดในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต มีจำเลย 68 ราย ที่ใช้เครื่องมือดังกล่าวนานที่สุดเกือบ 1 ปี
“จากสถิติที่ใช้เครื่องมือมีจำเลยหลบหนี 238 ราย สามารถติดตามจับกุมได้ 59 ราย อยู่ระหว่างการติดตาม 179 ราย ซึ่งผู้หลบหนีที่จับกุมได้ยังติดเครื่องมือดังกล่าวอยู่ทำให้สามารถติดตามตัวได้ง่าย ส่วนการประเมินผลความคุ้มค่าใน 1 ปีที่ผ่านมานั้นไม่สามารถประเมินได้ เพราะผู้ที่ติดอุปกรณ์ EM สามารถทำงานและทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ ซึ่งเป็นการลดผลกระทบต่อคนได้มหาศาล”นายปุณณพัฒน์กล่าว