ลุยกำหนดแนวเขตควบคุม จัดที่ทำกิน-ปลูก-และปล่อยสัตว์ป่า
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดโครงการการมีส่วนร่วมกำหนดแนวเขตควบคุม จัดที่ทำกิน/ปลูก/และปล่อยสัตว์ป่า เพื่อการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 30 พ.ค.62 นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานเปิดโครงการการมีส่วนร่วมกำหนดแนวเขตควบคุม จัดที่ทำกิน/ปลูก/และปล่อยสัตว์ป่า เพื่อการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ร่วมด้วย นายนิรันดร์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุบลราชธานี (แทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี) นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 เจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร ส่วนฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ ส่วนอุทยานแห่งชาติ ส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ประชาชนและนักเรียนในอำเภอน้ำยืน เข้าร่วมงาน 500 คน ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า “โครงการการมีส่วนร่วมกำหนดแนวเขตควบคุม จัดที่ทำกิน/ปลูก/และปล่อยสัตว์ป่า เพื่อการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างยั่งยืน” มีแนวคิดจากการที่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) เป็นผืนป่าติดต่อเชื่อมโยงกันตามแนวชายแดนระหว่างประเทศ โดยมีกลุ่มป่าที่สำคัญ คือ กลุ่มป่าพนมดงรัก – ผาแต้ม ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดสุรินทร์ เป็นพื้นที่เปรียบเสมือนคมขวานของประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 2,281,542.67 ไร่ ยังคงมีไม้หวงห้ามที่มีค่าทางเศรษฐกิจอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ไม้พะยูง ไม้ชิงชัน และไม้ประดู่ ประกอบกับเป็นพื้นที่ชายแดน
จึงพบปัญหาการลักลอบทำไม้และการล่าสัตว์ป่า การลักลอบนำพืชป่าและสัตว์ป่าตามบัญชีไซเตส ออกนอกราชอาณาจักร การบุกรุกยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อทำการเกษตร และใช้กรณีความยากจนและขาดแคลนที่ทำกินของราษฎร เป็นกลไกในการบุกรุกครอบครองพื้นที่ป่า ตลอดจนพื้นที่ป่าอนุรักษ์บางส่วนเป็นพื้นที่สู้รบเดิมจากปัญหาพรมแดนระหว่างประเทศไทย – กัมพูชา ซึ่งยังคงมีทุ่นระเบิดที่ยังไม่ได้เก็บกู้หลงเหลืออยู่ในพื้นที่จำนวนมาก เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองพื้นที่ป่า”
กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ตระหนักถึงผลกระทบของปัญหาดังกล่าว จึงจัดโครงการการมีส่วนร่วมกำหนดแนวเขตควบคุม จัดที่ทำกิน/ปลูก/และปล่อยสัตว์ป่า เพื่อการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างยั่งยืน”ขึ้น ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 140,845 ไร่ อยู่บริเวณเทือกเขาพนมดงรัก กั้นระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา และประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาว มีสภาพกลุ่มป่าและสัตว์ป่าหลายชนิด และอยู่ใกล้กับชุมชนราษฎรที่เป็นเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจำนวนหลายกลุ่ม
ดังนั้น เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวมีการจัดการอย่างเป็นระบบและหวังให้เป็นพื้นที่นำร่องด้านการจัดการทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าให้คงความสมบูรณ์อย่างยั่งยืน ก่อให้เกิดประโยชน์กับชุมท้องถิ่น และประเทศชาติ รวมถึงการบูรณาการในการปฏิบัติติงานด้านการป้องกันรักษาทรัพยากรป่าไม้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนในบทบาทหน้าที่การดำเนินงานของหน่วยงานสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงจัดให้มีโครงการการดังกล่าวขึ้น ประกอบด้วย 4 กิจกรรม ได้แก่ 1. กิจกรรมส่งสัตว์ป่าคืนวนา เพื่อป่าสมบูรณ์ เป็นการดำเนินการปล่อยสัตว์ป่าคุ้มครอง ณ อ่างเก็บน้ำห้วยวังใหญ่ จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ เป็ดแดง 50 ตัว เป็ดก่า 67 ตัว ไก่ป่า 266 ตัว ไก่ฟ้าพญาลอ 20 ตัว ไก่ฟ้าหลังขาว 40 ตัว นกยูง 24 ตัว รวม 467 ตัว
2. กิจกรรมป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่สบอ.9 (อุบลราชธานี) ภายใต้ยุทธการ “ลับด้ามขวานประเทศ” ซึ่งเป็นการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ บูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ในการป้องกันการลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์ป่า 3. กิจกรรมกำหนดแนวเขตการจัดการพื้นที่อนุรักษ์และฟื้นฟูต้นน้ำเสื่อมสภาพ (แนวเขตควบคุม)
4. กิจกรรมประชารัฐร่วมใจปลูกป่าต้นไม้ให้แผ่นดิน พ.ศ.2562 เนื่องในวันต้นไม้ประจำปีของชาติ (วันวิสาขบูชา) เป็นการปลูกฟื้นฟูป่าจำนวนกล้าไม้ 25,000 กล้า นอกจากนี้กิจกรรมภายในงานยังมีนิทรรศการด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า การป้องกันรักษาทรัพยากรป่าไม้ การมอบพ่อแม่พันธุ์หมูป่า 10 คู่ แก่ตัวแทนประชาชนในพื้นที่ การร่วมปลูกป่า การปล่อยพันธุ์ปลาร่วมกับประชาชน จำนวน ๑๐๐ ถุง การสาธิตการเก็บกู้วัตถุระเบิด การเผาทำลายกับดักสัตว์ป่า พิธีเปิดกิจกรรม “ป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ซึ่งหลายกิจกรรมเป็นการทำกิจกรรมร่วมกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการรักษาฟื้นฟูพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้เป็นป่าที่สมบูรณ์ สร้างความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติสัตว์ป่า พร้อมทั้งเสริมสร้างทัศนคติที่ดีกับประชาชนเยาวชนในการร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติอีกด้วย