ตลาดหุ้น ‘สิงคโปร์’ เล็งเพิ่มอนุพันธ์
ผลตอบแทนสินทรัพย์รายวันเฉลี่ยในตลาดหุ้นสิงคโปร์อยู่ที่ 791 ล้านดอลลาร์ในเดือนพ.ค. ขณะที่ตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 1,800 ล้านดอลลาร์ และฮ่องกงอยู่ที่ 1.24 หมื่นล้านดอลลาร์
ตลาดหุ้นสิงคโปร์เล็งเพิ่มตราสารอนุพันธ์ พร้อมเสนอแพลตฟอร์มจดทะเบียนหุ้นและพันธบัตรแก่บรรดาสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หวังสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
นายโลห์ บุน เช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (เอสจีเอ็กซ์) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์วานนี้ (6 มิ.ย.) ว่า ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ตั้งเป้าที่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้กับธุรกิจตราสารอนุพันธ์ที่มีมูลค่าสูง และนำเสนอแพลตฟอร์มจดทะเบียนหุ้นและพันธบัตร (บอนด์) ให้กับเหล่าธุรกิจเกิดใหม่ หรือสตาร์ทอัพ ในภูมิภาค
“มักมีการโฟกัสไปที่การทำไอพีโอ (ขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก) และตลาดทุนที่เกี่ยวข้อง แต่วันนี้ ผู้มีส่วนร่วมในตลาดหุ้นของเรามองเป้าหมายที่มากกว่าแค่ตลาดหุ้นแล้ว” นายโลห์กล่าว และว่า “พวกเขาเริ่มคิดว่าเราเป็นตลาดอนุพันธ์ ตลาดเงินตราต่างประเทศ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ และตลาดสินค้า และเป็นตลาดตราสารหนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ”
กลยุทธ์สินทรัพย์หลากหลายของเอสจีเอ็กซ์ มีขึ้นในช่วงที่ตลาดหุ้นแห่งนี้ถูกบดบังโดยการระดมทุนหลายพันล้านดอลลาร์ซึ่งนำโดยทุนจีนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งอื่น ๆ รวมถึงของไทยก็ผงาดเป็นคู่แข่งที่แข็งแกร่งเช่นกัน
ข้อมูลจากบริษัทรีฟินิทีฟ ระบุว่า ผลตอบแทนสินทรัพย์รายวันเฉลี่ยในตลาดหุ้นสิงคโปร์อยู่ที่ 791 ล้านดอลลาร์ในเดือนพ.ค. ขณะที่ตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 1,800 ล้านดอลลาร์ และฮ่องกงอยู่ที่ 1.24 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนเดียวกัน
“ไอพีโอไม่ใช่จุดหมายปลายทางสุดท้าย เป็นเพียงกระบวนการหนึ่งเท่านั้น การระดมทุนในต่างประเทศของเรามักมีมูลค่ามากกว่าตลาดไอพีโอ 3-4 เท่า” นายโลห์ อดีตนายธนาคารมากประสบการณ์ที่ร่วมงานกับเอสจีเอ็กซ์เมื่อ 4 ปีก่อนเผย และบอกว่า การจดทะเบียนบอนด์ยังเป็นส่วนสำคัญในเครื่องมือของเอสจีเอ็กซ์ด้วย
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เอสจีเอ็กซ์ได้ปรับปรุงสภาพคล่องของตน พร้อมกับสร้างกรอบหลักเกณฑ์ที่เข้มแข็ง และเริ่มใช้ระบบหุ้นสองระดับ นอกจากนั้นยังเล็งเปิดให้บรรดาสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ เช่น “แกร็บ” และ “โกเจ็ก” 2 ผู้ให้บริการเรียกรถผ่านมือถือ และ “โทโกพีเดีย” บริษัทอีคอมเมิร์ซ ทำไอพีโอในตลาดหุ้นได้ในอนาคต
ข้อมูลจากรีฟินิทีฟ ชี้ว่า การทำไอพีโอมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์ของบริษัทคลังสินค้า “จีแอลพี” เมื่อปี 2553 เป็นการระดมทุนใหญ่ครั้งสุดท้ายในตลาดเอสจีเอ็กซ์ โดยระดมทุนได้กว่า 500 ล้านดอลลาร์ และจีแอลพีได้ออกจากตลาดหุ้นในปี 2561