เตือนดูด 'ไข่มุกชานม' มาก ระวังตกค้างในกระเพาะ
กรมอนามัย เตือนดูด "ไข่มุก" ในชานม ลงท้องทันทีย่อยยาก เสี่ยงสำลัก กินมากอาจตกค้างในกระเพาะ กินต้องเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน แนะดื่ม 1-2 แก้วต่อสัปดาห์ พลังงานสูงถึง 300 กิโลแคลอรี
น.ส.วิไลลักษณ์ ศรีสุระ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า ไข่มุกในชานมไข่มุกแต่ละที่จะมีส่วนผสมในการทำไม่เหมือนกัน แต่ที่เป็นข่าวนั้นคาดว่า อาจเกิดจากการผสมแป้งเพิ่มเข้าอีก เช่น แป้งมัน เพื่อให้ตัวสาคูหรือไข่มุกเด้ง เคี้ยงกรุบๆ เพราะฉะนั้น ถ้าคนที่ทานแล้วไม่เคี้ยวให้ละเอียดก็มีโอกาสที่จะตกค้างได้ แต่ที่ตกค้างจำนวนมากอย่างในข่าวน่าจะเพราะมีการรับประทานที่เยอะมาก จนเกิดการย่อยได้ไม่หมด ส่วนไข่มุกของประเทศไทยส่วนใหญ่ทำจากแป้งมันสำปะหลังผสมกับแป้งสาลีเล็กน้อย ซึ่งคุณสมบัติของแป้งมันสำปะหลังจึงทำให้ไข่มุกจึงดูใส น่ารับประทาน แต่ต้องใช้เวลาในการเคี้ยว
"คนมักจะดื่มแล้วกลืนไข่มุกลงไปเลยโดยไม่ได้เคี้ยว ซึ่งนอกจากอาจทำให้เกิดการติดคอได้แล้ว ไข่มุกที่ไม่ได้ผ่านการเคี้ยวหรือกระบวนการย่อยตั้งแต่ในปาก จะทำให้ไข่มุกลงไปกองและเกิดการตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหารและสำไส้ได้ ซึ่งแป้งต้องใช้เวลาในการย่อยพอสมควร แม้จะใช้เวลาย่อยน้อยกว่าเนื้อสัตว์ แต่หากไม่เคี้ยวเลย แต่ลงไปเป็นลูกๆ การย่อยก็จะยิ่งใช้เวลานานขึ้น และเมื่อกินเข้าไปมากๆ น้ำย่อยในการย่อยแป้งก็ย่อยไม่ทัน หรือเกินที่จะย่อย ดังนั้น การกินชานมไข่มุกต้องเคี้ยวให้ละเอียดด้วย เพื่อให้โมเลกุลตัวเนื้อไข่มุกจะละเอียดขึ้น เมื่อผสมกับน้ำย่อยในปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหารก็จะย่อยและดูดซึมได้เร็ว" น.ส.วิไลลักษณ์ กล่าว
น.ส.วิไลลักษณ์ กล่าวว่อีกา สำหรับคนที่จะดื่มชานมไข่มุก ต้องดูตัวเองว่า เสี่ยงต่อภาวะอ้วนหรือไม่ เพราะชาไข่มุกให้พลังงานสูง จากชา นม น้ำตาลที่ใส่ และแป้งไข่มุกอีก เรียกว่าได้แป้งดับเบิลเข้าไป โอกาสอ้วนกว่าคนไม่ทานชานมไข่มุกก็จะมีมาก แนะนำสัปดาห์ละ 1-2 แก้วก็เพียงพอแล้ว เพราะชานม 1 แก้วพลังงานก็ใกล้เคียงกับกาแฟเย็น คือ 250 กิโลแคลอรี เมื่อรวมไข่มุกเข้าไปอีก ก็ตกประมาณ 300 กว่ากิโลแคลอรี ไม่ควรรับประทานมากเกินไป แต่ควรไปบริโภคอาหารอย่างอื่น มิเช่นนั้นจะขาดสารอาหารอย่างอื่นที่จำเป็นต่อร่างกาย
“การย่อยอาหารของคนเราเป็นกลไกตามธรรมชาติ โดยจะมีน้ำย่อยหลายชนิดตั้งแต่ในปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ ทำหน้าที่ย่อยอาหารแต่ละชนิด ทั้งแป้ง โปรตีนจากเนื้อสัตว์ ผักที่เป็นเส้นใยอาหาร ซึ่งการเคี้ยวให้ละเอียดทุกอย่างจะช่วยให้การดูดซึมไปใช้งานได้ง่าย โดยผักย่อยง่ายสุด ตามด้วยแป้ง และโปรตีน ซึ่งโปรตีนบางประเภทอย่างเนื้อวัวจะย่อยยากกว่าโปรตีนจากเนื้อปลา”น.ส.วิไลลักษณ์ กล่าว