'ศิริ' วางเกณฑ์กำหนดเงื่อนไขเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ-บงกช ก่อนสิ้นสุดสัปทานเดิม
“ศิริ” ส่งต่อ รมว.พลังงานคนใหม่ วางเกณฑ์กำหนดเงื่อนไขเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ-บงกช ก่อนสิ้นสุดสัปทานเดิมปี 2565-2566 ก่อนลงนามข้อตกลงเตรียมการผลิตต่อเนื่อง มี.ค.2563
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการเข้าพื้นที่สำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทยหมายเลข G1/61(แหล่งเอราวัณ) และหมายเลข G2/61(แหล่งบงกช) ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานเดิมในปี2565-2566 นั้น จะต้องมีการลงนามตกลงเตรียมการผลิตต่อเนื่อง (Assets transfer Agreement) ร่วมกันระหว่าง 3 ฝ่าย คือ ภาครัฐ โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ,ผู้ชนะการประมูล บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และเจ้าของสัมปทานเดิม(แหล่งเอราวัณ) คือ เชฟรอนฯ ซึ่งจะต้องลงนามประมาณเดือน มี.ค.2563 เพื่อที่ผู้ชนะการประมูลรายใหม่จะมีเวลาเตรียมความพร้อม 2 ปีก่อนที่สัญญาสัมปทานเดิมจะสิ้นสุดลงในปี2565-2566
“จากนี้ไป ประมาณ 9 เดือนยังมีเวลาที่จะเตรียมการต่างๆ เพื่อเดินหน้าสู่การลงนามฯ ส่วนจะเป็นการลงนามฉบับเดียวร่วมกันทั้ง 2 แหล่ง คือเอราวัณและบงกช หรือจะแยกเป็น 2 ฉบับ ก็เป็นหน้าที่ของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ ที่จะเข้ามาสานต่องานในเรื่องนี้ต่อไป”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2562 นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการพลังงาน ได้ลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แหล่งเอราวัณ) กับ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ในกลุ่ม บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด ในกลุ่มบริษัท มูบาดาลา จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) โดยถือหุ้นสัดส่วน 60:40 ตามลำดับ และสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทยหมายเลข G2/61 (แหล่งบงกช) กับ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ที่ถือสัดส่วน 100% นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่มีการลงนามกับผู้ชนะการประมูลทั้ง 2 แหล่งก๊าซภายใต้ระบบ PSC
สำหรับการประมูลครั้งนี้ ได้กำหนดให้ผูกพันปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำสำหรับ 10 ปีแรกของระยะเวลาการผลิต ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับแหล่งเอราวัณ และ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับแหล่งบงกช ที่จะสิ้นสุดสัมปทานเดิมในปี 2565-2566 จากปัจจุบันแหล่งเอราวัณ ผลิตก๊าซอยู่ที่ 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งบงกช ผลิต 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งทั้ง 2 แหล่ง คิดเป็น 60% ของปริมาณการผลิตก๊าซของประเทศ
โดยการประมูลครั้งนี้ ผู้ชนะการประมูลได้เสนอราคาค่าคงที่สำหรับราคาก๊าซที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู ทำให้ประเทศได้ประโยชน์จะส่งผ่านผู้บริโภคทั้งหมดจากส่วนลดราคาก๊าซราว 5.5 แสนล้านบาท ตลอด 10 ปี แบ่งเป็น ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีเงินส่วนลดเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับ LPG เพื่อสร้างเสถียรภาพราคา LPG ได้ราว 1 บาทต่อกิโลกรัม, ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) วงเงิน 1 แสนล้านบาท หรือทำให้ราคา NGV ลดลง 0.50-1.00 บาทต่อกิโลกรัม และปิโตรเคมี วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีต้นทุนที่แข่งขันได้