นายกฯ ชูยกเศรษฐกิจอาเซียนขึ้นเบอร์4 โลกปี 2573
นายกรัฐมนตรีเป็นประธานและกล่าวปาฐกถาในโอกาสการประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียน ครั้งที่ 5 “The Future of Thailand and ASEAN” ชูวิสัยทัศน์ร่วมการพัฒนาดันอาเซียนเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ของโลก ภายในปี 2573
วันนี้ (วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน 2562) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานและกล่าวปาฐกถาในโอกาสการประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียน ครั้งที่ 5 “The Future of Thailand and ASEAN” ณ ห้อง Magnolia ballroom ชั้น 10 โรงแรม Waldorf Astoria กรุงเทพมหานคร โดยมี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พร้อมด้วยผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูต ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนกว่า 400 คน เข้าร่วมงาน
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารู้สึกเป็นเกียรติได้มาร่วมงานการประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียน ครั้งที่ 5 และกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “The Future of Thailand and ASEAN” ที่สำนักข่าว Bloomberg จัดขึ้น ในช่วงเวลานี้ที่มีความสำคัญกับประเทศไทยเพราะจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ในช่วงสุดสัปดาห์นี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงวิสัยทัศน์ของไทย ว่ามีศักยภาพและความพร้อมในหลายด้านที่จะเดินหน้าไปสู่การพัฒนาพร้อมกับภูมิภาค ไทยได้ก้าวพ้นสถานการณ์ความไม่สงบ มีความปรองดอง และสามารถแก้ปัญหาคั่งค้างที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศหลายประการ ไทยได้ผ่านพ้นการเลือกตั้งทั่วไปตามกระบวนการประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อย เป็นไปตาม roadmap ที่กำหนด และนายกรัฐมนตรีมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อสืบสานนโยบาย และการพัฒนาประเทศให้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ระบุถึงดัชนีทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เป็นตัวบ่งชี้ว่า สถานการณ์ในประเทศดีขึ้นมาก เศรษฐกิจขยายตัวได้ 4.1% การลงทุนรวมขยายตัว 3.8 % ซึ่งทั้งสองตัวชี้วัดนี้ถือเป็นอัตราที่สูงที่สูดในรอบ 6 ปี และมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ระดับ 2.53 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยก็ให้ความสำคัญในการดูแลขั้นตอนกระบวนการในการทำธุรกิจ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้ลำดับที่ดีขึ้นในการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจในปี 2561 ของธนาคารโลก ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 27 จากทั้งหมด 190 ประเทศ สูงขึ้นจากปีก่อนถึง 19 อันดับ และเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน สำหรับภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นส่วนที่มีความสำคัญกับประเทศก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเยือนประเทศไทยถึง 38 ล้านคน ในปี 2561 เพิ่มขึ้น 2.9 ล้านคนจากปีก่อนหน้า และปีนี้คาดว่าเราจะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวถึง 40 ล้านคน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีนโยบายพัฒนาด้านเทคโนโลยี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศให้เอื้อต่อการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม และรองรับอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการเป็นระเบียงเศรษฐกิจแห่งเอเชีย
อย่างไรก็ดี รัฐบาลส่งเสริมให้ประเทศไทยเข้มแข็งจากภายใน มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจมั่นคงกระจายลงไปถึงระดับรากหญ้า โดยให้ภาคเอกชนไทย และอาเซียนเป็นจุดแข็งที่จะลดช่องว่าง สร้างการเติบโตไปสู่รากหญ้า ทั้งนี้ ผู้มีรายได้น้อย และ SMEs และช่วยให้สามารถเชื่อมโยงเข้ากับห่วงโซ่มูลค่าของโลกได้ ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันผลกระทบจากความท้าทายภายนอก ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจการค้า ความขัดแย้งทางการค้า รวมทั้งความท้าทายจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งรัฐบาลไทยเชื่อว่าเป็นหลักการที่สามารถนำไปปรับใช้ในบริบทการพัฒนาของอาเซียนได้ด้วย
ในส่วนของอาเซียนซึ่งมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เพราะตลาดขนาดใหญ่อันดับ 6 ของโลก มีประชากรกว่า 650 ล้านคน และอยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศที่สำคัญ จึงช่วยเพิ่มศักยภาพของอาเซียนในการที่จะพัฒนาไปเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ของโลก ภายในปี 2573 รวมถึงจะเพิ่มอำนาจการต่อรองของภูมิภาคด้วย แม้ว่า ปัจจุบันโลกเผชิญกับความท้าทาย และการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรม นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยและอาเซียนมีศักยภาพสูงที่จะรับมือ และเป็นสนามการค้าการลงทุนที่มีเสถียรภาพ ตอบโจทย์นักลงทุนทั่วโลก โดยไทยนำเสนอแนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” และมีเป้าหมายที่จะบรรลุความสำเร็จในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ที่ไทยต้องการผลักดันให้เป็นรูปธรรมภายในปี 2562
ได้แก่ 1) การมุ่งสู่อนาคต คือ ความพร้อมในการเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 2) การส่งเสริมความเชื่อมโยงทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน และ 3) การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจรากหญ้าให้ประชาชนอยู่ดีกินดี
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีขอให้ภาคเอกชนมั่นใจและใช้ประโยชน์จากความพร้อมของไทย และอาเซียนทั้งทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเมืองที่นำไปสู่ความต่อเนื่องทางนโยบายในการพัฒนาต่อไป