อุทธรณ์ยืนยกฟ้อง 'พรชนก' คดีฆ่าสามีญี่ปุ่น หวังเอาเงินประกัน
ศาลชี้พยานหลักฐานโจทก์ไม่ชัด ต้องยกประโยชน์ความสงสัยในหลักฐาน ขณะที่ "พรชนก" ยังมีคดีฆ่าหั่นศพครูญี่ปุ่นสอนภาษาอีกสำนวน ติดคุก 20 ปี
ที่ห้องพิจารณา 807 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก วันที่ 27 มิ.ย. 2562 เวลา 10.00 น. ศาลนัดอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ภาค 1 คดีฆ่าสามีญี่ปุ่น หมายเลขดำ อ.4571/2560 ที่พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสมชาย แก้วบางยาง อายุ 52 ปี อาชีพรับจ้าง และ นางพรชนก ไชยะปะ อายุ 52 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัว ซึ่งเคยเป็นภรรยา ของนายสมชาย โดยทั้งสองเป็นชาวสมุทรปราการ เป็นจำเลยที่ 1-2 ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน กรณีที่ นายคาซิโตชิ ทานากะ อายุ 57 ปี สามีชาวญี่ปุ่นคนแรกของนางพรชนก เสียชีวิตจากการตกบันได เมื่อปี 2546 ซึ่งระหว่างการพิจารณาคดีทั้งสองถูกคุมขังในเรือนจำ
ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 มี.ค.61 ให้ลงโทษ นายสมชาย แก้วบางยาง จำเลยที่ 1 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ให้จำคุกตลอดชีวิต โดยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 33 ปี 4 เดือน โดยให้ยกฟ้องนางพรชนก จำเลยที่ 2 เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อสงสัยตามสมควร
ต่อมา อัยการโจทก์ ยื่นอุทธรณ์คดี ซึ่งระหว่างพิจารณานั้น จำเลยทั้งสองถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ และเนื่องจากปัจจุบัน นางพรชนก จำเลยที่ถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง ในคดีอื่นด้วย จึงมีการเบิกตัวจำเลยที่ 2 มาฟังคำพิพากษาที่ศาลอาญา ซึ่งใกล้เคียงพื้นที่
โดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้ง รับฟังได้เป็นที่ยุติว่าตามวัน-เวลาเกิดเหตุตามฟ้อง นายสมชาย จำเลยที่ 1 ฆ่านายคาซิโตชิ ทานากะ ผู้ตาย ด้วยการผลักผู้ตาย ตกลงไปที่ราวบันใดแล้ว ใช้มือกดลำคอจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย
จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทย์ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ ซึ่งในชั้นสอบสวน นายสมชาย จำเลยที่ 1 รับสารภาพถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบว่าร่วมกันวางแผนก่อนเกิดเหตุ หรือ นายสมชาย จำเลยที่ 1 นั่งรอดูผู้ตายเดินออกจากห้องเป็นเวลาถึง 4-5 ชั่วโมงตามคำให้การ ซึ่งมูลเหตุจูงใจในการฆ่าที่ให้การไว้ ก็คงมีเพียงเรื่องที่ถึงหึงหวงตายกับ นางพรชนก จำเลยที่ 2 ที่ขึ้นไปนอนพร้อมกันเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ทราบเรื่องเงินที่ทำประกันของผู้ตายแต่อย่างใด ดังนั้นพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 1 กระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนี้ให้จำเลยที่ 1 ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ( ป.วิ อาญา) มาตรา 227 วรรคสอง
ส่วน นางพรชนก จำเลยที่ 2 ก็ไม่ปรากฏว่า โจทก์มีพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่ามีส่วนร่วมกับ นายสมชาย จำเลยที่ 1 ในการฆ่าผู้ตายอย่างไร ซึ่งข้อเท็จจริงตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของ นายสมชาย จำเลยที่ 1 ก็ปรากฏเพียงว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายแล้วได้ไปเรียกจำเลยที่ 2 จากที่ห้องนอน แล้วจำเลยที่ 2 ก็เรียกให้คนช่วย ขณะที่จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธโดยตลอดว่าไม่มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำผิด
ส่วนที่โจทก์นำสืบถึงมูลเหตุจูงใจว่า นางพรชนก จำเลยที่ 2 จะได้รับเงินจากการประกันชีวิตจากผู้ตายนั้นโจทก์ก็ไม่มีหลักฐานว่า จำเลยที่ 2 ทราบเรื่องการทำประกันชีวิตของผู้ตายก่อนเกิดเหตุหรือมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจำเลยที่ 2 ได้รับเงินที่ได้จากการประกันชีวิตของนายคาซิโตชิ ทานากะ ผู้ตายมาแล้ว หรือหากจำเลยที่ 2 ได้รับเงินจากประกันชีวิตของผู้ตายจริงก็อาจเป็นเพียงการรับเงินตามสิทธิ์ของตนตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นผู้รับประโยชน์ไว้ก็เป็นได้ แม้การที่จำเลยที่ 2 ไม่ให้คนใกล้ชิดเล่าเรื่องจำเลยที่ 1 อยู่ในที่เกิดเหตุให้คนอื่นฟังก็อาจเพียงต้องการช่วยเหลือ นายสมชายจำเลยที่ 1 ซึ่งเคยอยู่กินฉันสามีมาก่อนเพื่อไม่ให้ต้องรับโทษจากที่ตนทราบหรือสงสัยว่าจำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายในภายหลังก็เป็นได้ อีกทั้งยังเป็นการสั่งห้ามในวันถัดมาไม่ใช่ห้ามในวันเกิดเหตุทันที
ตามทางนำสืบของโจทก์ จึงยังไม่พอยืนยันว่า นางพรชนก จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมในการฆ่าผู้ตายพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงมีความสงสัยตามสมควรว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายหรือไม่ จึงยกประโยชน์ตาม ป.วิ อาญา มาตรา 227 วรรคสอง
โดยโจทก์มีเพียงพยานหลักฐานที่นำสืบมาเป็นพยานแวดล้อม อีกทั้งยังไม่อาจยืนยันข้อเท็จจริงได้ชัดแจ้งโดยปราศจากความสงสัย ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พยานโจทก์ที่นำเสนอมายังมีความสงสัยตามสมควร สำหรับจำเลยที่ 1 ฐานกระทำการโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามฟ้องหรือไม่นั้น และจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ใดหรือไม่ แล้วศาลชั้นต้น พิพากษาลงโทษ นายสมชาย จำเลยที่ 1 เฉพาะความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 228 และยกฟ้องจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ดี สำหรับ นายสมชาย จำเลยที่ 1 และ นายพรชนก จำเลยที่ 2 นั้น ยังถูกฟ้องคดีฆ่าผู้อื่นและหั่นชิ้นศพเพื่อปกปิดอำพรางคดี ซึ่งเป็นครูญี่ปุ่นสอนภาษา ที่นางพรชนกดูแลอยู่ด้วยกันอีกคดีด้วย โดยพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 3 ยื่นฟ้องทั้งสองเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.57 ต่อศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ในคดีหมายเลขดำ อ.4330/2557 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนหรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญา หน่วงเหนี่ยวกักขัง ,ซ่อนเร้นทำลายศพเพื่อปิดบังการตาย , ลักทรัพย์ในเวลาเคหะสถานในเวลากลางคืน มีไว้เพื่อนำออก และใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่น
กรณีเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 13 ต.ค.57 จำเลย ร่วมกันวางแผนใช้อาวุธมีดปลายแหลมยาวแทงและฟัน นายโยชิโนริ ชิมาโตะ (YOSHINORI SHIMATO) ครูสอนภาษาญี่ปุ่น อายุ 79 ปี ซึ่งมีอาการป่วยนอนอยู่บนเตียงภายในบ้าน จ.สมุทรปราการ แล้วจับศีรษะ กดกับหมอนจนขาดใจตาย ก่อนหั่นชำแหละชิ้นส่วนอวัยวะเป็นชิ้นๆ ใส่ถุงถ่วงด้วยทรายนำไปทิ้งที่ คลองนางทิ้ง หมู่ 7 ที่ตำบลและอำเภอบางบ่อ จ.สมุทรปราการ แล้ว จำเลยร่วมกันเอาทรัพย์สินรวม 41,500 บาทของผู้ตายไป และยังใช้บัตรธนาคารต่าง ๆ กดเอาเงินสดของผู้ตายไปอีกรวม 520,000 บาท
โดยนายสมชายจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่าฆ่าผู้ตายจนถึงแก่ความตายจริง แต่ไม่ได้ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และรับสารภาพข้อหาซ่อนเร้นทำลายศพเพื่อปิดบังสาเหตุการตาย ข้อหาลักทรัพย์ เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าสะพาย สมุดเงินฝากธนาคาร กระเป๋าเงินแบบหนัง เงินสด 3,000 บาท และทรัพย์สินอื่น รวม 45,390 บาทส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ส่วนนางพรชนก จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพข้อหาใช้บัตรเอทีเอ็ม ชนิดบัตรเดบิต ธ.กรุงเทพฯ สำนักงานใหญ่ สีลม ของผู้ตายไปใช้เพื่อประโยชน์ของการชำระสินค้า หรือเบิกเงินสด โดยจำเลยที่ 2 เลือกใช้บัตรเบิกถอนเงินสดผู้ตาย 15 ครั้ง รวมเป็นเงิน 7.2 แสนบาท ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ขณะที่ศาลอาญา มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 ม.ค.59 เห็นว่า คดีนี้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งว่า นายสมชาย จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายด้วยการใช้อาวุธมีดปลายแหลม แทงและฟันผู้ตาย แล้วใช้หมอนกดศีรษะทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจ โดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามฟ้องจริงหรือไม่ ข้อเท็จจริงมีเหตุให้เชื่อได้เพียงว่า จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายลักษณะปัจจุบันทันด่วน โดยมีสาเหตุจากความหึงหวง เป็นความผิดฐานฆ่าผู้ตายเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 288 แต่ไม่ใช่การฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยจำเลยที่ 1 ชำแหละศพผู้ตายแล้วนำขึ้นรถกระบะของจำเลยที่ 2 ไปทิ้ง จึงพิพากษาให้ประหารชีวิตนายสมชาย จำเลยที่ 1 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จำเลยที่ 1 รับสารภาพจึงจำคุกไว้ตลอดชีวิต
ส่วนของนางพรชนก จำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานนำสืบให้ศาลเห็นโดยชัดแจ้งว่า อยู่ร่วมกันในบ้านที่เกิดเหตุ แล้วร่วมกันฆ่าผู้ตาย ซึ่งพยานหลักฐานของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ยังมีความสงสัยตามสมควร จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.227 วรรคสอง แต่จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานใช้บัตรเอทีเอ็มของผู้ตายไปเบิกถอนเงินสด 15 ครั้งรวมเป็นเงิน 7.2 แสนบาท ระหว่างวันที่ 28 30 ก.ย. และวันที่ 1 3 และ 5 13 ต.ค. 57 และร่วมซ่อนเร้นทำลายศพ รวมจำคุกทั้งสิ้น 24 ปี 6 เดือน แต่เมื่อรวมโทษจำเลยที่ 2 ทุกกระทงความผิดแล้วตามกฎหมายให้จำคุกสูงสุด เป็นเวลา 20 ปี
และให้ นายสมชาย จำเลยที่ 1 คืนเงินที่ลักไปทรัพย์รวม 45,390 บาท ส่วนนางพรชนก จำเลยที่ 2 คืนเงิน 7.2 แสนบาท ให้นายเท็ตซูโอะ บุตรชายของผู้ตายด้วย สำหรับข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง