ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนขยับขึ้นครั้งแรกรอบ4เดือน
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับขึ้นครั้งแรกรอบ 4 เดือน หวังรัฐบาลใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจ-นโยบายการเงินสหรัฐหนุน
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน ก.ค.2562 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ก.ย.62) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 25.50% มาอยู่ที่ 109.44 ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบสี่เดือน แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) ที่มีค่าช่วงดัชนี 80-119
ผลสำรวจพบว่าความคาดหวังนโยบายภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย และนโยบายทางการเงินของสหรัฐ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ขณะที่ติดตามคามคืบหน้าการเจรจาสงครามทางการค้าและเสถียรภาพการเมืองในประเทศ เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนเช่นกัน
ผลสำรวจยังพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศทรงตัวอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral) , ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นมาอยู่ใน Zone ร้อนแรงอย่างมาก (Very Bullish) ,ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนรายบุคคลเพิ่มขึ้นมาอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral) และดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ อยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral) เช่นเดิม
หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดบริการรับเหมาก่อสร้าง(CONS) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA) โดยปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ นโยบายภาครัฐ และปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ
"ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกในรอบสี่เดือน อยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกัน โดยกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากจากเกณฑ์ซบเซามาอยู่ที่เกณฑ์ร้อนแรงอย่างมาก กลุ่มบัญชีนักลงทุนรายบุคคลเพิ่มขึ้นจากเกณฑ์ซบเซามาอยู่ที่เกณฑ์ทรงตัว กลุ่มสถาบันในประเทศเพิ่มขึ้นจากเกณฑ์ทรงตัวมาอยู่ที่เกณฑ์ร้อนแรง ขณะที่กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่เกณฑ์ทรงตัวเช่นเดิม"นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบลูย์ กล่าวอีกว่า ในช่วงเดือน มิ.ย.ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดเดือน จากระดับต่ำสุดช่วงต้นเดือนที่ 1,622 จุด เคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากสลับกับการพักตัว โดยดัชนีมาอยู่ระดับสูงสุดของเดือนที่ 1,735 จุด ก่อนจะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 1,720-1,730 จุดในช่วงปลายเดือน
โดยทิศทางการลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดคือความคาดหวังนโยบายภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ซึ่งจะเริ่มประกาศนโยบายในช่วงเดือนกรกฎาคม รองลงมาคือนโยบายทางการเงินของสหรัฐ แม้ว่ามีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายแต่ส่งสัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง 62 โดยการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศหนุนความเชื่อมั่นในลำดับรองลงมา
ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศยังคงเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศและเสถียรภาพของรัฐบาลยังเป็นปัจจัยที่นักลงทุนจับตามอง สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตามได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ความคืบหน้าการเจรจาทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐภายหลังการประชุม G20 ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ภายหลังส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมทั้งลดดอกเบี้ยและทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพิ่ม นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนในช่วงครึ่งหลังของปีจากความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันและทองคำที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากความตึงเครียดในตะวันออกกลางในช่องแคบฮอร์มุช ยังเป็นปัจจัยที่นักลงทุนจับตามอง