ทีเส็บ ย้ำเชียงใหม่พร้อมสุด ชูแนวคิดจัดงานไมซ์ช่วงฤดูฝน
ทีเส็บ เดินหน้าสร้างสรรค์เส้นทางสายไมซ์ ผนึกจังหวัดเชียงใหม่ และพันธมิตรจากภาคธุรกิจเอกชน ชูแนวคิดการจัดงานไมซ์ช่วงฤดูฝน ชูมรดกทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น สิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยครบครัน
ด้านนายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ หรือ สสปน. กล่าวว่า “ทีเส็บเดินหน้าสนับสนุนการดึงงานไมซ์สู่จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ ด้วยศักยภาพของเชียงใหม่ในฐานะ 1 ใน 5 หัวเมืองไมซ์หลัก หรือ MICE City ซึ่งพันธกิจต่างๆที่ผ่านมาของทีเส็บ ภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งผลเป็นที่น่ายินดี เพราะนับตั้งแต่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่เปิดตัวขึ้นในปี 2556 จำนวนงานประชุมนานาชาติที่จัดในเชียงใหม่และเป็นงานที่ ICCA ให้การรับรองมีอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 250 จากจำนวนงาน 10 งานในปี 2556 เพิ่มเป็น 21 งานในปี 2560 และ 25 งานในปี 2561
ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมนานาชาติที่ได้รับการรับรองจาก ICCA จำนวน 193 งาน เป็นงานที่จัดในเชียงใหม่ 25 งาน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.95 หรือเป็นเมืองที่จัดงานประชุมนานาชาติมากเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ นอกจากนี้จากสถิติของ ICCA ในปี 2561 เชียงใหม่เป็นเมืองที่จัดงานประชุมนานาชาติมากเป็นอันดับที่ 25 ของเอเชีย ขยับขึ้นจากอันดับ 27 ในปี 2560 และเป็นเมืองที่จัดงานประชุมนานาชาติมากเป็นอันดับที่ 110 ของโลก ขยับขึ้นจากอันดับ 130 หรือขยับขึ้น 20 อันดับ อีกทั้งยังเป็นเมืองที่จัดงานประชุมนานาชาติมากเป็นอันดับที่ 7 ของอาเซียนทั้งในปี 2560 และ 2561
โดยจากจำนวน 10 งานประมูลสิทธิ์ที่ทีเส็บสนับสนุนและชนะในรอบครึ่งปีแรกของปี 2562 นั้น มีงานที่จะมาจัดที่เชียงใหม่ 3 งาน ได้แก่งาน Routes Asia 2020 มีจำนวนผู้แทนจากนานาชาติ 1,000 คนและจากไทย 500 คน งาน Association for Women’s Rights in Development Forum 2020 มีผู้แทนจากนานาชาติ 2000 คนและจากไทย 200 คน และงาน Meeting of Asian Society of Cardiothoracic Anesthesia ครั้งที่ 14 มีผู้แทนจากนานาชาติ 400 คนและจากไทย 600 คน
“ในด้านแนวคิดจัดงานไมซ์ช่วงฤดูฝน MICE Events in the Rain ทีเส็บพร้อมร่วมแรงและร่วมมือ (Partner and Collaborator) สนับสนุนจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นจุดหมายการจัดงานไมซ์ในช่วง Green Season เพราะเชื่อมั่นในทรัพยากรไมซ์ของทางจังหวัดที่มีการพัฒนาด้วยความคิดสร้างสรรค์สมัยใหม่ผนวกเข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิม สามารถสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้กับนักเดินทางไมซ์ ดังตัวอย่าง 2 ชุมชน คือ ชุมชนป่าตาลและชุมชนโหล่งฮิมคาว ที่ทีเส็บได้ร่วมมือกับจังหวัดเชียงใหม่เพื่อนำเสนอให้กับผู้สื่อข่าวที่มาร่วมงาน”นายจิรุตถ์ กล่าว
ขณะที่ นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการคมนาคมขนส่ง ทั้งทางรถยนต์ เครื่องบิน และ ทางรถไฟ สำหรับทางเครื่องบิน มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเชียงใหม่เมื่อปี 2561 จำนวน 2.6 ล้านคน และเป็นชาวจีนไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน เนื่องจากมีสายการบิน 26 สาย บินตรงเข้าสู่เชียงใหม่ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศระดับภูมิภาคกว่า 200 เที่ยวบินในแต่ละวัน และมีจำนวนผู้มาเยือนโดยเฉลี่ย 40,000 คนต่อวัน ถือว่าเป็นจุดแข็งของจังหวัด
เชียงใหม่ยังมีความพร้อมในด้านการจัดการประชุมขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ที่สามารถรองรับผู้เข้าร่วมประชุมไม่ต่ำกว่า 10,000 คน และมีโรงแรมขนาด 5 ดาวหลายแห่ง มีห้องพักจำนวนมาก สามารถรองรับนักเดินทางด้านไมซ์ได้เพียงพอตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วง "กรีนซีซั่น" ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์จึงเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัด และการดำเนินการให้เกิดการเดินทางจึงสำคัญและต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนแบบบูรณาการ ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ และ เอกชน
นอกจากนี้ จังหวัดเชียงใหม่ ยังมีโครงการสร้างรถไฟรางเบา 3 เส้นทาง โดยจะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 และแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางมีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น
ขณะที่ นางละเอียด บุ้งศรีทอง นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า เชียงใหม่มีสถานที่จัดประชุมที่ได้รับการรับรองตราสัญลักษณ์มาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย (Thailand MICE Venue Standard หรือ TMVS) 16 แห่ง รวมจำนวน 56 ห้องประชุม สถานที่จัดงานพิเศษ 1 แห่ง และศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติอีก 1 แห่ง นอกจากนี้ ยังพรั่งพร้อมไปด้วยสถานที่จัดงานหลากหาย ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมและห้องประชุมที่ครบครันด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย พื้นที่จัดการประชุมที่สร้างสรรค์ การสร้างทีมเวิร์ค กิจกรรมเพื่อการสันทนาการต่างๆ เพื่อเสริมประสบการณ์ใหม่ให้นักเดินทางกลุ่มไมซ์ที่เดินทางมายังเชียงใหม่ ทั้งช่วงก่อนและหลังงาน ขณะที่โรงแรมโดยรวมมี 2,500 แห่ง รวม 60,000 ห้อง
ทั้งนี้ ในด้านบทบาทและกิจกรรมของ สสปน. ในการผลักดันจังหวัดเชียงใหม่นั้น ทีเส็บจะยังคงเดินหน้าร่วมทำงานกับจังหวัดเชียงใหม่สำรวจเส้นทางเพิ่มเติมหรืองานระยะที่ 2 เพื่อพัฒนา 7 Magnificent MICE Themes ให้ทางจังหวัดเชียงใหม่สำหรับใช้เป็นจุดขายให้กับนักเดินทางกลุ่มไมซ์ มีกำหนดการประชุมเชิงปฏิบัติการในวันที่ 5-7 กรกฎาคมนี้ นอกจากนี้ งาน Lanna Expo 2019 ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน ถึง 7 กรกฎาคม นี้ ถือเป็นเวทีส่งเสริมและพัฒนาศิลปะและงานฝีมือท้องถิ่น นำไปสู่การสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เศรษฐกิจในภาคเหนือ
นอกจากนี้ สสปน.ยังเข้าไปส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น และน่าสนใจ เช่น ตลาดฉำฉา ต.สันกลาง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ศูนย์รวมร้านค้าของดีท้องถิ่นระดับไฮเอนด์ และชุมชนไทยอง วัดป่าตาล ต.บวกค้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมศิลปะ วัฒนธรรม ของชาวยอง ซึ่งอพยพมาเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว และเป็นแหล่งผลิตงานฝีมือ ผ้าทอมือ และเที่ยวชมท้องทุ่งนาบนขัวแตะ(สะพานบุญ)
สำหรับ อุตสาหกรรมไมซ์ไทย ขึ้นอันดับ 4 ของเอเชียด้านการประชุมนานาชาติด้วยจำนวน 193 งาน รองจาก ญี่ปุ่น จีน และเกาหลี และเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน ยกระดับขึ้นจากปี 2560 ซึ่งไทยอยู่ในอันดับ 5 ของเอเชีย
ทีเส็บ มองอุตสาหกรรมไมซ์ไทยปีนี้จะเติบโตประมาณ 8% และมียอดนักเดินทางไมซ์เดินทางเข้ามาประชุมสัมมนาประมาณ 11.8 ล้าน คน จาก 4 เดือนแรกที่เข้ามาแล้วประมาณ 4.1 ล้านคน ซึ่งจะดันยอดรายได้ 2.2 แสนล้านบาทตามเป้าหมายในปี 2562