เตือนเขื่อนใหญ่น้ำน้อยวิกฤติ 18 แห่ง

เตือนเขื่อนใหญ่น้ำน้อยวิกฤติ 18 แห่ง

อธิบดีกรมชลฯ สั่งทุกพื้นที่เร่งช่วยเหลือประชาชน ระดมเปิดทางน้ำส่งผลิตประปา-พื้นที่เพาะปลูก ขาดแคลนฝนทิ้งช่วง สสนก.เตือนเขื่อนใหญ่น้ำน้อยวิกฤติ 18 แห่ง

เมื่อวันที่ 17 ก.ค.62 นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าได้สั่งการให้สำนักงานโครงการชลประทานทั่วประเทศเร่งช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่โดยด่วน เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้หลายจังหวัดประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ส่งผลกระทบน้ำอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะพื้นที่ในตัวเมืองจังหวัดบุรีรัมย์ สำนักงานชลประทานที่ 8 เร่งวางแนวทางจัดหาแหล่งน้ำช่วยผลิตประปา ด้วยการขุดร่องชักน้ำเข้าสู่หัวงานของการประปาส่วนภูมิภาค พร้อมกับสูบน้ำบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด-ห้วยจระเข้มากเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบ นอกจากนี้ยังเตรียมผันน้ำผ่านทางลำจังหัน-ลำนางรองไปช่วยอีกประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน

ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่าง สำนักงานชลประทานที่ 6 เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นวันละ 800,000 ลบ.ม. เขื่อนร้อยเอ็ดเป็นวันละ 350,000 ลบ.ม. และเขื่อนมหาสารคามอีกวันละ 400,000-450,000 ลบ.ม. เพื่อเติมให้กับแม่น้ำชีเหนือเขื่อนวังยาง รวมถึงหยุดสูบน้ำที่สถานีเขื่อนวังยางตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค.62 เป็นต้นมา และยังได้นำเครื่องจักร-เครื่องมือเข้าไปขุดเปิดร่องชักน้ำ กำจัดวัชพืชและขุดลอกตะกอนดินบริเวณด้านท้ายเขื่อนร้อยเอ็ด ส่งผลให้ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในแม่น้ำชีตอนล่างเริ่มดีขึ้น

ด้านโครงการชลประทานอุตรดิตถ์รายงานผลการติดตามสถานการณ์น้ำและการทำงานของเครื่องสูบน้ำ ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟผ.) เขื่อนสิริกิติ์ 4 เครื่องและเครื่องสูบน้ำของกรมชลประทาน 2 เครื่อง เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งพื้นที่อพยพท้ายเขื่อนสิริกิติ์ในเขตอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์เพื่อสูบน้ำส่งให้พื้นที่การเกษตรที่น้ำส่งไม่ถึง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่

โดยคาดว่าจะสูบน้ำช่วยเหลือต่อเนื่องประมาณ 1 เดือน ส่วนที่จังหวัดนครราชสีมา สำนักงานชลประทานที่ 8 นำเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว 1 เครื่อง ติดตั้งและสูบน้ำช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปี 1,000 ไร่ ในพื้นที่บ้านสะกาด ตำบลรังกา และบ้านวังหิน บ้านขี้เหล็ก ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย และโครงการชลประทานฉะเชิงเทราสนับสนุนรถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร 1 คัน เพื่อนำน้ำดิบไปจ่ายเข้าระบบผลิตน้ำประปาหมู่บ้านในหมู่ที่ 9 บ้านเขาจันทร์ ตำบลทุ่งพระยา อำเภอสนามชัยเขต 4 เที่ยวแล้วเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่มีอยู่ 154 ครัวเรือน ประชากร 523 คน ปัจจุบันมีปริมาณน้ำสะสม ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 792,000 ลิตร โดยจะช่วยเหลือไปจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

นายทองเปลว กล่าวว่า สำหรับพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีในเขตชลประทานทั้งประเทศซึ่งวางแผนเพาะปลูกรวม 16.68 ล้านไร่ ปัจจุบันเพาะปลูกไปแล้ว 10.77 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 64.55 ของแผน ส่วนลุ่มเจ้าพระยา วางแผนเพาะปลูกข้าวนาปีรวม 7.71 ล้านไร่ ปัจจุบัน เพาะปลูกไปแล้ว 6.09 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 78.97 ของแผน จากสภาวะฝนทิ้งช่วงคาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำไหลผ่านลุ่มน้ำปิงที่สถานี P.17 อ.บรรพตพิสัย
จ.นครสวรรค์มีแนวโน้มลดลง

เช่นเดียวกับลุ่มน้ำน่านที่สถานี N.67 อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ จะมีแนวโน้มลดลง โดยจะทำให้น้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลมายังเขื่อนเจ้าพระยาจังหวัดชัยนาทมีแนวโน้มลดลงด้วย จึงเน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทยอยเพาะปลูกตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่และให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ส่วนพื้นที่ที่ได้เพาะปลูกไปแล้ว ทั้งนี้​กรมชลประทานจะส่งน้ำแบบรอบเวรหมุนเวียนแต่ละพื้นที่ รวมทั้งขอให้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำปิง น่านและแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดสูบน้ำตามรอบเวรอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ได้เตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำพร้อมสนับสนุนในพื้นที่ที่ต้องการทันที

“ได้ให้โครงการชลประทานทุกแห่งเร่งทำความเข้าใจและขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ให้มากที่สุด” นายทองเปลว กล่าว

ด้านสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(สสนก.) แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่มีน้ำใช้การน้อยวิกฤติ เช่นเขื่อนอุบลรัตน์(-0%),เขื่อนสิรินธร(2%),เขื่อนป่าสักฯ(5%),เขื่อนจุฬาภรณ์(5%),เขื่อนคลองสียัด(6%),เขื่อนสิริกิติ์(6%),เขื่อนภูมิพล(7%),เขื่อนกระเสียว(9%),เขื่อนแควน้อย(11%),เขื่อนแม่กวง(12%),เขื่อนขุนด่านปราการชล(13%),เขื่อนทับเสลา(13%),เขื่อนลำพระเพลิง(14%),เขื่อนน้ำพุง(15%),เขื่อนนฤบดินทรจินดา(16%),เขื่อนวชิราลงกรณ(17%),เขื่อนห้วยหลวง(18%),เขื่อนศรีนครินทร์(19%)