เปิดเส้นทางเงิน 'ทัวร์อีแอลซี' สะพัด 5-7 พันล้าน
แหล่งข่าวระดับสูงในสตช. เผย “ทัวร์อีแอลซี” ที่เพิ่งโดนเพิกถอนใบอนุญาต มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 5-7 พันล้าน ขณะที่ผลสอบเส้นทางการเงินพบ เงิน 2 พันล้าน กระจายเข้าบัญชีคนหลายกลุ่ม ทั้งเครือญาติ คนใกล้ชิด และผู้ร่วมขบวนการ
ความคืบหน้าคดี “ทัวร์อีแอลซี” ที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก ซึ่งเป็นกลุ่มลูกทัวร์อีแอลซีร้องเรียนกับเนชั่นทีวีว่า ถูกบริษัทอีแอลซี กรุ๊ป จำกัด ฉ้อโกงเงินค่าแพคเกจท่องเที่ยว ลักษณะคือจ่ายเงินครบ แต่ไม่ได้เดินทางตามกำหนด อีกทั้งยังขอเงินคืนไม่ได้ คาดว่าคดีนี้มีผู้เสียหายมากกว่า 5,000 คน ความเสียหายหลักพันล้านบาท
ล่าสุดวันที่ 23 ก.ค. 2562 แหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกของบริษัทอีแอลซีว่า จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบเม็ดเงินที่ผู้เสียหายโอนเข้าบัญชีของอีแอลซีประมาณ 5,000 -7,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังพบว่า มีเงินไหลออกนอกระบบ ไปเข้าบัญชีบุคคลใกล้ชิด “อาจารย์โหน่ง” เจ้าของบริษัทอีแอลซี ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็นคนในครอบครัว เครือญาติที่ จ.น่าน และเชียงใหม่ เป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท อีกทั้งยังโอนให้บุคคลใกล้ชิด เป็นทนายความรายหนึ่งที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อีก 7 ล้านบาท นอกจากนี้ตำรวจกำลังตรวจสอบเลขบัญชีอีกประมาณ 15-30 บัญชี ที่มีการผ่องถ่ายเงินออกไปประจำ โดยทำหนังสือประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ให้เข้ามาตรวจสอบเส้นทางการเงินแล้ว รวมถึงส่งเรื่องให้กรมสรรพากรเข้ามาตรวจสอบว่า บริษัทอีแอลซี กรุ๊ป จำกัด มีการเลี่ยงภาษีหรือไม่ แต่เบื้องต้นจากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังพบว่า บริษัทแห่งนี้จดทะเบียนจัดตั้งที่ อ.เมือง จ.น่าน ตั้งแต่ปี 2556 โดยแจ้งประกอบธุรกิจขายเครื่องหอมในห้องน้ำ และไม่เคยยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเป็นเวลาต่อเนื่อง 3 ปี
ส่วนความคืบหน้าทางคดี พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผบ.ตร. อยู่ระหว่างร่างคำสั่งให้ผบ.ตร. ลงนามส่งมอบคดี โดยในวันที่ 24 ก.ค. นี้ จะนำเสนอผ่านสำนักงานกฎหมายและคดี ก่อนเสนอผบ.ตร. ต่อไป
แหล่งข่าวระดับสูงใน สตช. ยังตั้งข้อสังเกตการทำงานของเจ้าหน้าที่ในกรมการท่องเที่ยว (กทท.) ว่า มีการละเลยเพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เนื่องจากคดีนี้ ทางกทท. พบการกระทำผิดของอีแอลซีครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2561 หลังจากมีผู้เสียหายเข้าร้องเรียนว่าบริษัทยังไม่คืนเงิน กระทั่งวันที่ 14 มิ.ย. 2562 จำนวนผู้เสียหายเพิ่มขึ้นเป็น 162 ราย จำนวนความเสียหายกว่า 55 ล้านบาท มีการคืนเงินให้ผู้เสียหายเพียง 21 ราย เป็นเงินกว่า 3 ล้านบาทเท่านั้น แต่กทท. ก็ยังไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น จนเรื่องราวบานปลายเสียหายเป็นพันล้านขนาดนี้
“การดำเนินการตามมาตรการทางปกครอง ของนายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์กลาง ที่ได้มีคำสั่งที่ 8/2562 ลงวันที่ 15 พ.ค. 2562 ตักเตือนพฤติกรรมบริษัทอีแอลซี ไม่ให้ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวรายนี้ กระทำให้เกิดความเสียหายกับนักท่องเที่ยวอีก หากพบว่าหลังจากได้รับคำสั่งเตือนแล้ว ยังมีการขายรายการนำเที่ยว หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่นักท่องเที่ยวอีก นายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวสามารถเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวได้ทันที แต่ปรากฎว่าบริษัทอีแอลซียังละเมิดคำสั่งนี้ ทั้งขายทัวร์ใหม่ และเรียกเก็บเงินเพิ่ม จนนำมาสู่การพักใบอนุญาตเป็นเวลา 1 เดือน ในวันที่ 12 มิ.ย. 2562 ทั้งที่ความจริง กทท.สามารถเพิกถอนใบอนุญาตได้ทันที หรือเรียกปรับเป็นครั้งคราวได้ แต่ก็ไม่มีการเปรียบเทียบปรับ ซึ่งการเรียกปรับบ่อยๆนั้น นำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาตได้เช่นเดียวกัน ไม่ต้องรอให้คดีถึงที่สุด” แหล่งข่าวระดับสูงใน สตช. กล่าว
ส่วนเจ้าหน้าที่ของกทท. จะมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับอีแอลซีหรือไม่ แหล่งข่าวระดับสูงใน สตช. บอกว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่เบื้องต้นตำรวจมีหลักฐาน เป็นภาพถ่ายเจ้าหน้าที่ระดับสูงและระดับปฏิบัติการ 3-4 รายของกรมการท่องเที่ยว เคยใช้บริการทัวร์ทริปยุโรปกับทางอีแอลซี โดยมีทั้งช่วงเวลาก่อนและหลังจากผู้เสียหายเข้าร้องเรียน แต่ยังไม่ขอเปิดเผย