‘อุตตม’ โชว์หนังสือ ป.ป.ช.ยืนยันตัวเองไม่เกี่ยวข้องคดีปล่อยกู้กรุงไทย
"อุตตม" โชว์หนังสือ ป.ป.ช.ยืนยันตัวเองไม่เกี่ยวข้องคดีปล่อยกู้กรุงไทย
เมื่อเวลา 22.10 น. วันที่ 26 ก.ค.62 นายอุตตม สาวนายน รมว.คลังและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งตกเป็นเป้าโจมตีทางการเมืองจากฝ่ายค้านว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับบริษัทในเครือกฤษดามหานคร ได้ร่ายยาวชี้แจงเรื่องนี้ต่อรัฐสภาในช่วงการอภิปรายนโยบายรัฐบาล โดยใช้เวลาในการชี้แจงประมาณ 20นาที
ทั้งนี้ คำชี้แจงของนายอุตตม มีเนื้อหาใจความว่า " ท่านประธานสภาที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผมขอขอบคุณท่านผู้มีเกียรติ ทั้งในและนอกที่ประชุมแห่งนี้ ที่ให้ความสนใจต่อคดีความไม่สุจริตในการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับบริษัทในเครือ กฤษดามหานคร
คำชี้แจง ระบุต่อไปว่า มีกระบวนการจากทั้งในและนอกสภาแห่งนี้ พยายามบิดเบือนข้อมูลให้ผู้คนในสังคมเข้าใจผิดว่า ผมมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เป็นเวลาร่วม 16 ปี ที่มีความพยายามหลายซ้ำหลายซ้อน ในการฟ้องร้องกล่าวหาและหยิบยกเรื่องนี้เพื่อเชื่อมโยงให้ผมเกิดความเสียหาย ทั้งจากสมาชิกในสภาฯนี้และพันธมิตรนอกสภา
“ผมถือว่าผมเป็นนักการเมือง ยินดีและพร้อมรับการตรวจสอบในทุกกระบวนการ แต่คนมันไม่ผิดแล้วจะเอาให้ผิดได้อย่างไร ”
จากนั้น นายอุตตม ได้เล่าย้อนในคำชี้แจง ว่า “ ผมขอเล่าย้อนกลับไปเมื่อ 16 ปีก่อนว่า เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.46 คณะกรรมการธนาคารกรุงไทยได้อนุมัติปล่อยกู้สินเชื่อจำนวน 9,900 ล้านบาท ให้กับกลุ่มบริษัทในเครือกฤษดามหานคร จากนั้นบริษัทนี้ ได้นำเงินไปรีไฟแนนซ์ธนาคารกรุงเทพจำนวน 4,500 ล้านบาท แรกเริ่มเดิมทีในการประชุมบอร์ดบริหารปล่อยสินเชื่อบริษัทนี้ ผมได้ท้วงติงในบอร์ดบริหารว่า “สินเชื่อนี้ไม่สามารถอนุมัติให้ได้” แต่ในที่ประชุม ซึ่งท่านประธานกรรมการบริหารในสมัยนั้น เดินหน้าอนุมัติสินเชื่อ โดยบอกว่า ได้รับโทรศัพท์จาก บิ๊กบอส หรือซุปเปอร์บอส “ไม่ให้คัดค้านการอนุมัติ”
ต้องยอมรับว่า ในขณะที่ผมเป็นกรรมการ ผมก็ได้รับบ่วงกรรม บ่วงกรรมในการร่วมเป็นคณะกรรมการแม้ว่าผมไม่เห็นด้วย บ่วงกรรมแรกที่ผมได้รับ คือ การถูกแบงก์ชาติสอบ ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินในประเทศนี้ ถือเป็นหน่วยงานแรก ที่ตรวจสอบความผิดปกติในการปล่อยกู้ครั้งนี้อย่างเข้มข้น ซึ่งในระบบสถาบันการเงินต่างรับรู้กันอย่างดีว่ามีความเข้มข้น ตรงไป ตรงมา เป็นที่ประจักษ์ ไม่เคยเกรงกลัวต่ออิทธิพลต่ออำนาจใดๆ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางการเมืองหรืออำนาจอื่นใด แต่ท้ายที่สุดแบงก์ชาติก็บอกว่า ผมและคุณชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ ขออภัยที่ต้องเอ่ยนาม ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริตการปล่อยกู้ ซึ่งได้มีมติ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2548"
เมื่อชี้แจงถึงตอนนี้นายอุตตมได้เตรียมนำหนังสือจากธนาคารประเทศไทยสมัยที่มี ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นผู้ว่าฯ เป็นหลักฐานประกอบการชี้แจงด้วย
นายอุตตม ชี้แจงต่อไปว่า ไม่สิ้นสุดแค่นั้น หลังจากที่แบงก์ชาติส่งเรื่องไปที่ปปช. ต่อมามีการรัฐประหารขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2549 จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)โดยมีนายนาม ยิ้มแย้ม เป็นประธาน
"ทุกคนคงทราบดีว่า นายนาม ยิ้มแย้ม นั้น ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาไม่เกรงกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหมใด ๆ ทั้งสิ้น ทางคตส.ก็มีการเรียกผมและกรรมการทั้งหมดไปสอบ โดยเฉพาะตัวผมได้ถูกเรียกสอบด้วยตนเองพร้อมทั้งส่งเอกสารอย่างเป็นทางการไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ก็เป็นเวลาที่ทุกข์ยากลำบากสำหรับคนที่โดนตรวจสอบโดยปปช. ว่านี่คือการทุจริตต่อหน้าที่ แต่ด้วยสิ่งที่ผมได้กระทำไว้ จึงปกป้องผมว่าไม่ได้กระทำความผิด คตส.จึงมีมติเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.51 ว่า ผมไม่ได้มีส่วนใด ๆ ในการกระทำความผิดในครั้งนี้"
เมื่อชี้แจงถึงตรงนี้ นายอุตตม ได้เตรียมหนังสือ คตส. ไว้เป็นหลักฐานประกอบการชี้แจงด้วย นายอุตตม ชี้แจงต่อไปว่า หลังจาก คตส.มีมติดังกล่าวแล้ว ก็ส่งเรื่องให้อัยการเพื่อนำเรื่องไปพิจารณาส่งฟ้องกับผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งอัยการก็มีความเห็นสอดคล้องกับ คตส. โดยสั่งฟ้องจำเลยทั้งหมดยกเว้นตน เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.51
"ดังนั้นในคำพิพากษาในการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงคำพิพากษาเมื่อ 26 ส.ค.58 จึงไม่มีผมเป็นจำเลยในคดีนี้แต่อย่างใด เพราะฉะนั้นที่มากล่าวหา ที่มาบิดเบือน ใส่ร้ายว่า “กันผมเป็นพยาน” นั้น เป็นเรื่องที่ไม่เป็นความจริง เพราะกระบวนการยุติธรรม 5 ขั้นตอนได้พิสูจน์แล้วว่า ผมไม่กระทำความผิด ซึ่งกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนได้พิสูจน์มาแล้ว"
รมว.คลัง “อุตตม” ได้ชี้แจงในตอนท้ายว่า ขณะนี้คดีเรื่องของการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยในเคสนี้ยังมีอีก 2 คดีที่กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับตน แต่เป็นคดีที่ศาลได้ดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 ที่หนีคดีอยู่ หลังออกกฏหมายใหม่เมื่อปี 2561 ที่สามารถไต่สวนลับหลังได้ ส่วนคดีที่ 2 คือ ฟอกเงิน ซึ่งศาลก็มีการนัดสืบสวนไต่สวนคดี และทั้ง 2 คดีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับตน
"ผมเข้าใจครับว่า การป้ายสีผม ในช่วงที่ผ่านมาเพื่อหวังให้ผู้คนในสังคมเข้าใจผิด เป็นการกระทำที่ “ทำง่าย” ที่จะชี้หน้าว่าใครดี ใครไม่ดี โดยไม่มีความรับผิดชอบ และไม่สนใจคำตัดสินของศาลสถิตย์ยุติธรรมเพื่อให้คนเข้าใจผิด และเป็นหน้าที่ผมที่จะทำความเข้าใจกับเพื่อนสมาชิกและคนในสังคม นี้ได้เข้าใจว่า “ผมได้ทำหน้าที่ของการเป็นกรรมการธนาคารที่ดีอย่างมืออาชีพ ในการท้วงติง สิ่งที่ผิดปกติตั้งแต่ต้น จนกระบวนการยุติธรรมทุกลำดับชั้นที่ตรวจสอบ สอบสวนผม ลงมติตรงกันว่า ผมไม่ได้มีส่วนร่วม และไม่ได้เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในการปล่อยกู้ โดยไม่ถูกต้องในครั้งนั้น”